Blink Blink
Latest news
solar cellTeslaUSA

ติด Solar Cell 100 kW ประหยัดไฟได้ 80,000 บาท/เดือน

สวัสดีครับ วันนี้ผมมีข้อมูลจาก SME จังหวัดสิงห์บุรีมาเล่าให้ฟังนะครับ สถานที่แห่งนี้เป็นร้านขายของฝากและร้านอาหารติดกับถนนสายเอเชียไฮเวย์นะครับ ชื่อร้าน เกษรา เบเกอรี่ – ต้นตำรับเค้กปลาช่อนสิงห์บุรี 

เจ้าของร้านชื่อคุณกอล์ฟแวะมาแชร์ประสบการณ์การติดตั้ง Solar Cell แล้วลดค่าไฟจากเดือนล่ะ 240,000-250,000 บาทเหลือเพียงเดือนละ 170,000 บาท ด้วยงบติดตั้ง solar cell ประมาณ 3 ล้านบาท เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่าลงทุนอะไรไปแล้วบ้างรวมไปถึงกราฟการบริโภคไฟรายวันด้วยนะครับ

ค่าไฟจาก 250,000 บาท/เดือน เหลือ 170,000 บาท/เดือน

เนื่องจากธุรกิจของคุณกอลฟ์นั้นค่อนข้างมีขนาดใหญ่ ดังนั้นแล้วการจัดการระบบไฟฟ้านั้นต้องแบ่งหม้อแปลงออกเป็น 2 หม้อนะครับ โดยคุณกอล์ฟมีหม้อแปลงขนาด 250 kva และ 160 kva

แต่ก่อนนั้นบิลค่าไฟของ 2 หม้อแปลงนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120,000 – 130,000 บาทต่อหม้อแปลงนะครับรวมกันได้ 250,000 บาทต่อเดือนครับ

พอคุณกอล์ฟลองเอา solar Cell (แผงรับแสงอาทิตย์)มาติดตั้งดูปรากฏว่าค่าไฟลดลงไปเหลือเดือนล่ะ 170,000 บาทต่อเดือน อันนี้เป็น Solar Cell On grid เฉยๆ นะครับไม่มีแบตเตอรี่อะไรเลย

ส่วนบิลค่าไฟนั้นผมเอามาโพสให้ดูด้านล่าง อันนี้เป็นบิลค่าไฟทั้งสองหม้อแปลงครับ

หมายเหตุ : บิลค่าไฟที่มีค่าไฟ 8 หมื่นกว่าบาทต่อบิลนั้นคือบิลค่าไฟในเฟส 2 เท่านั้นนะครับ เฟสที่ 3 คุณกอล์ฟพึ่งจะติดตั้งเมื่อวันที่ 14 เมษา นี้ครับ คาดว่าจะลดลงไปกว่านี้อีกเยอะครับ

Solar Cell ผลิตไฟได้ 800 หน่วย(kWh)ต่อวัน!!

อ้างอิงจากภาพอาคารด้านบนแล้วนั้น คุณกอล์ฟมีอาคารรับไฟทั้งหมด 2 อาคารในพื้นที่นี้นะครับ โดยอาคารแรก(ร้านอาหาร)นั้นสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 400 kWh ต่อวัน!! นี่เทียบเท่ากับการใช้ไฟของร้านอาหาร(ขนาดใหญ่) 1 ร้านเลยนะครับ

ส่วนอีกอาคารนั้น(ร้านขายของฝาก)สามารถผลิตไฟได้ 411 kWh ต่อวัน คือจะกลายเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วย Solar Cell ได้แล้วนะครับ ฮ่าๆ เดี๋ยวผมจะอธิบายกราฟนี้ให้ดูคร่าวๆ นะครับ

ผมเอาตัวอย่างร้านของฝากมาให้ดูตรงนี้นะครับ

  • เส้นสีส้มคือ เส้นบอกการกินไฟของร้านของฝาก
  • เส้นสีเทาคือ เส้นบอกกำลังไฟฟ้าที่ส่งมาจาก grid(ไฟหลวง)
  • เส้นสีเขียวคือ เส้นบอกไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Cell

เราจะสังเกตุง่ายๆ ว่า ตอน 8 โมงเช้านั้น เส้นสีเขียวทำงานได้มากถึง 50 kW ซึ่งการกินไฟในช่วง 8 โมงเช้ายังน้อยจะเห็นได้ว่า เส้นสีส้มต่ำกว่าเส้นสีเขียวทำให้เส้นสีเทาโดนกดลงไปด้วย

พอมาถึงตอนเที่ยงจะเห็นได้ว่าการกินไฟนั้นคงที่แถวๆ 55 kW แต่กำลังการผลิตไฟฟ้านั้นเกินการกินไฟครับ เรียกได้ว่า ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง บ่าย 2 โมงนั้น ไฟฟ้าหลวงแทบไม่ได้จ่ายเข้ามาในร้านขายของฝากเลยนะครับ

พอมาหลังบ่าย 3 โมง แดดเริ่มหายจะเห็นได้ว่า เส้นสีเทาเริ่มตีตื้นขึ้นมาจนเป็นจุดตัดที่บ่าย 4 โมงอย่างเห็นได้ชัดคือ พึ่งพาไฟหลวงมากกว่าไฟ solar cell ซึ่งนี่ก็เป็นอีกจุดที่คุณกอล์ฟวางแผนจะแก้ไขในอนาคตคือซื้อ power storage เข้ามาเพื่อลดการกินไฟช่วงเย็นนะครับ และการมี power storage นั้นทำให้การกินไฟทั้งวันคงที่ด้วยครับ คือไม่ดึงไฟมาแรงจนเกิด demand charge อย่างแน่นอน อารมณ์เหมือนถังเก็บน้ำดาดฟ้าบนตึกแถวนะครับ เก็บน้ำเอาไว้แล้วถ้าอยากอาบน้ำจากฝักบัวก็เปิดเอาน้ำก็ไหลแรง

แบตเตอรี่ Power Storage ก็ทำงานระบบเดียวกันครับ คือ เก็บไฟเอาไว้ อาจจะชาร์จด้วยความแรง 15 kW แต่ตอนปล่อยออกจากปล่อย 100 kW เป็นเวลา 30 นาทีก็ได้ แล้วแต่เราจะปรับแต่ง Inverter และตัวแบตนะครับ

สำหรับใครที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ คุณกอล์ฟมีวิดีโอด้านล่างนี้อธิบายเอาไว้อีกชุดนะครับ(ลองฟังดูครับ)

โปรเจค 3 ล้านบาทมีอะไรบ้าง?

(ข้อมูลจากคุณกอลฟ์เขียนมาละเอียดมากครับ)

เฟสแรกเดือน กรกฏาคม 2020

  • แผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Jinko 400w แบบ mono half cell จำนวน 270 แผ่น
    • โซนฝั่งร้านอาหาร 138 แผ่น [คูณ 400w จะเท่ากับ 55.2 kW]
    • ฝั่งร้านของฝาก 132 แผ่น [คูณ 400w จะเท่ากับ 52.8kw]
  • อินเวอร์เตอร์ของ Huawei ขนาด 60 kw สองชุด [120 kW]
  • แผ่นโซล่าเซลล์ 400w ราคาแผ่นละประมาณ 4900 บาท จำนวน 270 แผ่น เท่ากับ 1,323,000 บาท
  • เฉลี่ยค่าติดตั้ง Solar Cell : 30บาทต่อไฟฟ้า1วัตต์

เริ่มจาก เฟสแรกตอนที่ติดตั้ง เมื่อเดือน กรกฏาคม 2020 คุณกอลฟ์ได้ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ สองชุด สำหรับโซนร้านอาหาร และร้านของฝาก แต่ติดตั้งอินเวอร์เตอร์และแผ่นโซล่าเซลล์ไว้ที่เดียวกันครับ สำหรับตัวอินเวอร์เตอร์ คุณกอลฟ์ใช้ อินเวอร์เตอร์ของ Huawei ขนาด 60 kw สองชุด และติดตั้งแผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Jinko 400w แบบ mono half cell จำนวน 270 แผ่น แบ่งเป็นโซนฝั่งร้านอาหาร 138 แผ่น และฝั่งร้านของฝาก 132 แผ่น

ถ้าดูกันตามตัวเลข ฝั่งร้านของฝาก 132 แผ่น คูณ 400w จะเท่ากับ 52.8kw แต่ในความเป็นจริง เมื่อหักค่า Lost ทั้งหมดในระบบ และค่า efficiency ในระบบ จะได้แค่ 60-65% เพราะแผ่นโซล่าเซลล์ในเทคโนโลยีเก่า จะรับกระแสไฟได้ไม่ดีเท่ารุ่นใหม่ๆปัจจุบันครับ สรุปคือ ในเฟสแรก ทั้งโซนฝั่งร้านอาหาร และร้านของฝาก คุณกอลฟ์มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ ประมาณ 31-32 kw ต่อหนึ่งอินเวอร์เตอร์ และสามารถประหยัดค่าไฟไปได้ ประมาณ 20000 กว่าบาท ต่อบิลค่าไฟของแต่ละร้านครับ ก็เท่ากับประมาณ 40,000-50000 บาทต่อเดือน

ซึ่งในสมัยนั้น ปี2020 แผ่นโซล่าเซลล์ 400w ราคาแผ่นละประมาณ 4900 บาท จำนวน 270 แผ่น เท่ากับ 1,323,000 บาทและค่าอินเวอร์เตอร์ 60kw ประมาณ 120,000 หมื่นบาท จำนวนสองตัว เท่ากับ 240,000 บาท และค่าอุปกรณ์ติดตั้ง ค่าสายไฟ และค่าตู้ MDB ควบคุมการจ่ายไฟ รวมถึงค่าแรง ทั้งหมดอีกราวๆ 350,000 บาท

สรุปรวมในเฟสแรก คุณกอลฟ์ใช้เงินลงทุนไป ราวๆ 1,900,000 กว่าบาท ครับ ใกล้เคียงสองล้าน แต่ในสมัยนั้น ที่เมืองไทย ค่า Ft แทบเป็น 0 นะครับ ไม่ถึงหนึ่งบาทต่อหน่วย ซึ่งในสมัยนั้น บิลค่าไฟของแต่ละร้าน จากราวๆ 8-9 หมื่น ก็จะลดลงมาเหลือประมาณ 6 หมื่นปลายๆ ถึง 7 หมื่นบาท โดยที่แต่ละบิล จะมีค่า ft แค่ราวๆพันกว่าบาทต่อหนึ่งบิล เท่านั้นครับ ถ้าเทียบค่าการลงทุนในเฟสแรก เท่ากับว่า คุณกอลฟ์ลงทุน ไป 1.9 ล้านบาท ได้กำลังไฟรวม ราวๆ 63-64kw ถ้าเอามาหารแล้วเท่ากับว่าสมัยนั้นคุณกอลฟ์ลงทุนไปราวๆ 30บาทต่อไฟฟ้า1วัตต์ที่ได้มา

เฟสสองปี 2022 : เพิ่มอีก 32 แผ่น (600 Watt)

  • สาเหตุที่เพิ่ม : ค่า ft ขึ้น
    • ค่าไฟสูงขึ้นมาทันที 34,000-36,000 บาทต่อเดือน
  • แผ่นยี่ห้อ Trina Sola 600w เป็นจำนวน 64 แผ่น
    • ค่าแผ่น 600w ราคาแผ่นละ 5,250 บาท จำนวน 64 แผ่น 336,000 บาท
  • อินเวอร์เตอร์ละ 32 แผ่น 32x600w = 19.36 kW ต่ออินเวอร์เตอร์
  • เฉลี่ยค่าติดตั้ง Solar Cell : 15 บาท ต่อไฟฟ้า 1 วัตต์

ในเฟสที่สอง ปี 2022 รัฐบาลไทย มีการปรับขึ้นค่า ft จาก ไม่ถึงหนึ่งบาท เป็น 1.42 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft ที่แต่ละเดือนของคุณกอล์ฟที่เสียอยู่ประมาณพันกว่าบาท ขยับขึ้น กลายเป็น 17,000-18,000 บาท ต่อหนึ่งบิลค่าไฟ เพราะปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคุณกอล์ฟ อยู่ที่ราวๆเก้าพันหน่วย ถึงหนึ่งหมื่นหน่วยในแต่ละหม้อแปลง ซึ่งทำให้ค่าไฟของคุณกอล์ฟสูงขึ้นมาทันที 34,000-36,000 บาท แบบชั่วข้ามคืนครับ จากที่เสียค่าไฟราวๆ 7หมื่นบาท กลับมาสูงขึ้นเทียบเท่าก่อนที่จะติดโซล่าเซลล์ในเฟสแรก

ซึ่งในเฟสแรกของคุณกอล์ฟที่ติดตั้งมาเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าๆ ก็ทำให้คุณกอล์ฟประหยัดค่าไฟไปได้แล้วประมาณหนึ่งล้านบาทครับทีนี้ คุณกอล์ฟก็เลยต้องทำการเพิ่มแผ่นโซล่าเซลล์ในเฟสที่ 2 ซึ่งคุณกอล์ฟได้ซื้อแผ่นยี่ห้อ Trina Sola 600w เป็นจำนวน 64 แผ่น แบ่งเป็นสองอินเวอร์เตอร์ อินเวอร์เตอร์ละ 32 แผ่น 32x600w = 19,360 Watt สำหรับค่า efficiency จะอยู่ราวๆ 70% เลยได้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นราวๆ 13kw ต่อหนึ่งชุด ก็จะได้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากเฟสแรกที่ผลิตได้แค่ 31-32kw เพิ่มขึ้นเป็น 41-44 kw ครับ

การติดตั้งแผ่นรอบสองนี้ ค่าใช้จ่ายจะมีแค่ ค่าแผ่น 600w ราคาแผ่นละ 5,250 บาท จำนวน 64 แผ่น 336,000 บาทค่าอุปกรณ์การติดตั้งอื่นๆ ค่าสายไฟ และค่าติดตั้งอีกราวๆ 50,000 บาท รวม เฟสสอง ลงทุนเพิ่มไปอีกราวๆ 386,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการเพิ่มระบบในเฟสสอง เท่ากับว่าคุณกอล์ฟได้ไฟฟ้าเพิ่มมา 26kw ถ้าเอามาหารเฉลี่ยในเฟสสอง คุณกอล์ฟจะลงทุนไปราวๆ 15บาท ต่อไฟฟ้า 1 วัตต์ที่ได้มา

หลังจากติดตั้งเฟสที่สอง ทำให้ค่าไฟฟ้าคุณกอล์ฟกลับมาอยู่ที่ราวๆ 7-8 หมื่นบาท ต่อบิล และค่า ft ลดลงจากการใช้ไฟที่ลดลง

เฟสสามปี 2024 : เพิ่มอีก 72 แผ่น (580 Watt)

  • สาเหตุที่เพิ่ม : ราคา Solar cell ถูกลงมาก
    • 580w ราคาแผ่นละ 2,950 บาท
  • แผ่นเทคโนโลยีใหม่ N-type 580w ราคาแผ่นละ 2,950 บาท จำนวน 72 แผ่น
    • ค่าแผ่นทั้งหมด 212,400 บาท
  • เฉลี่ยค่าติดตั้ง Solar Cell : 9 บาท ต่อวัตต์

ในเฟสที่สาม ปี 2024 เนื่องจากคุณกอล์ฟได้มีการปรับปรุงร้าน และมีการพัฒนาร้านเพิ่มเติมในหลายๆโซน ทำให้การใช้ไฟฟ้าของคุณกอล์ฟเพิ่มขึ้น จากกำลังไฟสูงสุดที่ใช้ ราวๆ 40-50kw ต่อหนึ่งร้าน เพิ่มเป็น 55-75kw และบางเวลาก็สูงถึง 120kw ในช่วงที่มีการใช้งานห้องจัดเลี้ยงและมีการใช้งานห้องสัมนาขนาด 220 ท่านกับกำลังการผลิตของโซล่าเซลล์ในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ราวๆ 44kw

ซึ่งยังมีส่วนต่างที่อินเวอร์เตอร์ขนาด 60 kw ที่สามารถรองรับได้ในแต่ละชุด คุณกอล์ฟก็เลยได้ทำการเพิ่มแผ่นโซล่าเซล ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่แผ่นโซล่าเซลล์ล้นตลาด และราคาถูกลงเกือบครึ่งและคุณกอล์ฟได้มีการซื้อแผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ sunnova ซึ่งเป็นแผ่นเทคโนโลยีใหม่ N-type 580w ราคาแผ่นละ 2,950 บาท จำนวน 72 แผ่น ขึ้นไปติดตั้งเพิ่มเติมในเฟสที่ 3 ซึ่งการลงทุนในเฟสที่ 3 นี้จะค่อนข้างถูกกว่าในเฟสแรกและเฟสที่สองเยอะมากครับ ค่าแผ่น 212,400 บาท รวมค่าอุปกรณ์ติดตั้งที่ถูกลงเหลือแค่ประมาณ 45,000 บาท เท่ากับว่าการลงทุนในเฟสที่ 3 ของคุณกอล์ฟ 580w x 36แผ่นเท่ากับ 20,160kw แผ่นรอบนี้ ค่า Efficiency จะดีกว่าแผ่น 600w อีกครับ อยู่ที่ราวๆ 75% เท่ากับจะผลิตไฟได้จริงๆราวๆ 15kw ต่อหนึ่งอินเวอร์เตอร์ ซึ่งในช่วง Peak time คุณกอล์ฟก็จะผลิตได้ อินเวอร์เตอร์ละ 57-58 kw ครับ ซึ่งเต็มประสิทธิภาพที่อินเวอร์เตอร์จะสามารถรองรับได้แล้วในการติดตั้งแผ่นในเฟสที่ 3 นี้

คุณกอล์ฟลงทุนไปประมาณ 262,400 บาท แต่ได้กำลังไฟที่ผลิตได้จริงๆรวมสองอินเวอร์เตอร์ ราวๆ 30kw ซึ่งเท่ากับว่า ต้นทุนในการลงทุนเหลือเพียงแค่ 9 บาท ต่อวัตต์ เท่านั้นครับ

ติด Solar Cell 406 แผ่น!!

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเยอะ และต้องเพิ่มแผ่นโซล่าเซลล์รวมทั้งหมดสามรอบ ติดตั้งถึง 406 แผ่น เพราะค่าการผลิตจริงกับตัวเลขในกระดาษมันต่างกันครับ ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ แผ่นโซล่าเซลล์ 600w ให้คิดว่ามันเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นค่าระยะทาง CLTC ครับ ในความเป็นจริง เมื่อต่อเข้ากับระบบและการแปลงกระแสไฟ จะมีการผ่านตัวต้านทานและการสูญเสียเยอะพอสมควร แล้วแผ่นแต่ละรุ่นก็มีค่า Efficiency ไม่เท่ากัน เพราะถ้าหากว่านำแผ่นทั้งหมด มา่คูณกันแบบตัวเลขกระดาษ จะได้กำลังไฟถึง 188kw กันเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริง คือผลิตได้ราวๆ 118-120 kw ในการใช้งานจริงเท่านั้นครับ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณกอลฟ์ต้องเพิ่มแผ่นถึง 3 เฟส

ตู้ inverter ภายในอาคาร(จ่ายไฟได้มากสุดที่ 60 kW + 40 kW)

เตรียมเป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

สำหรับอนาคต คุณกอล์ฟคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้ จะเป็น Hub และเปรียบเสมือน​โอเอซิสของรถไฟฟ้าครับซึ่งจะเป็นศูนย์​กลางการพักผ่อนระหว่าเดินทาง การแชร์ความรู้และรับฟังประสบการณ์​ต่างๆในเรื่องของรถยนต์​ไฟฟ้าและโซล่าเซลล์ และคาดหวังว่าที่แห่งนี้จะเป็น อีกหนึ่งของคอมมูนิตี้​สำหรับคนรักรถยนไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมครับ

BLINK DRIVE TAKE

ตอนแรกที่คุณกอล์ฟทักมานั้น เค้าทักมาคุยปรึกษาเรื่องจัดหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านะครับ แต่พอคุยไปคุยมา เห้ยคนนี้มีของนี่หว่า ล่อติด solar cell 406 แผ่นในอาคารปลูกสร้างของตนเองแบบนี้ ถ้าไม่รักษ์โลกจริงหรือไม่คิดวางแผนพึ่งพาพลังงานสะอาดจริงๆ ทำแบบนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะเอาจริงๆ Solar Cell ไม่ใช่ของที่จะคืนทุนภายใน 1-2 เดือนครับ เค้ามองว่า การลดภาระ load ของการไฟฟ้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ถือว่าเป็นหน้าที่ๆ เค้าอยากทำมากที่สุดเพราะว่ามันจะทำให้สถานที่ของเค้านั้นไม่เพิ่มการใช้ไฟในชุมชนนั้นครับแล้วอย่างที่ผมเอากราฟมาให้ดูด้านบนนั้น จะเห็นได้ว่า เค้าพยายามลดโหลดการไฟฟ้าในช่วง peak hour ตอนกลางวันและในอนาคตอันใกล้นี้เค้าวางแผนจะทำให้ร้านอาหารรวมไปถึงร้านขายของฝากนี้เป็น Zero emission business คือไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาจากการใช้ไฟเลย เพราะเราก็รู้กันว่า ไฟฟ้าที่เอามาขายให้เราปัจจุบันนั้นมาจากไฟสกปรกอยู่นะครับ (Cite : ไทยรัฐ : การได้มาของไฟสกปรกสำหรับชาร์จ)

ทำให้คุณกอล์ฟมองว่า ถ้าลดการใช้ไฟหลวงได้ก็เป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาวและลดต้นทุนธุรกิจไปในตัว แม้ว่า จะเป็นแค่หนึ่งธุรกิจเล็กๆ ก็ตาม แต่ถ้าลองคิดกันเล่นๆดูว่า หนึ่งจังหวัดมีเจ้าของธุรกิจติดตั้ง solar cell แบบคุณกอล์ฟอยู่แบบนี้ล่ะก็ มันจะลดการใช้พลังงานไฟฟ้า(สกปรก)ได้อย่างมหาศาลเลยนะครับ แล้วคราวนี้ไฟฟ้าก็จะเหลือในระบบมากเพียงพอที่จะเอามาสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กับพวกเราแหละครับ

ยังไงก็ตามผมกลับไปไทยรอบหน้ายังไงผมก็จะแวะไปที่นี่ให้ได้ครับ สัญญาใจกันเบาๆแล้วว่า กลับไปไทยยังไงก็จะแวะไปเหมือนตอนที่ผมแวะไปดอยอ่างขางหาครูปอนด์ (BYD Atto3) ไงครับ

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Follow by Email