ถ้าพูดกันถึงเรื่องชาร์จไฟ DC นั้น ความเร็วในการชาร์จที่ 200 kW อาจจะเป็นอะไรที่ไม่ว้าวในโลกปัจจุบันไปกันแล้วนะครับเพราะปัจจุบันนั้นตู้ชาร์จไฟในเมืองนอกก็สามารถอัดประจุไฟกันแถวๆ 500 – 1,000 kW สบายๆ (อย่าง Tesla Megacharger และ Porsche DC Fastcharge) ครับ
แต่สิ่งที่ทำให้ผมว้าวกับเทคโนโลยีตัวนี้ก็คือมันรับไฟที่ 27 kW หรือ 27,000 Watt ซึ่งพอรับไฟมาแล้วตู้ชาร์จมันจะเก็บไฟเอาไว้ในแบต 160 kWh ที่มาพร้อมกับตัวตู้ชาร์จพร้อมกับสามารถอัดประจุไฟได้สูงสุดที่ 150 kW และ 200 kW (มีสองสเปค)ครับ ดังนั้นบอกเลยว่ามันเหมาะกับ SME รายย่อย, ห้างร้านต่างๆ ที่ไม่สามารถตั้งหม้อแปลงจ่ายไฟสูงๆ เข้ามาในพื้นที่กันได้นะครับ เดี๋ยวผมจะขออธิบายการทำงานของตู้ชาร์จตู้นี้เพิ่มเติมด้านล่างนี้นะครับ
กักเก็บไฟเพื่อปล่อยแรงๆ
ตู้ชาร์จนี้ยี่ห้อ Free wire ซึ่งทำงานเหมือน Free wire ได้จริงๆ เพราะภายในตู้นี้มีแบตลิเธียม NMC ขนาด 160 kWh ซ่อนอยู่ภายในตู้นะครับ
การทำงานนี้จะอารมณ์เหมือนแท็งค์กักเก็บไฟ เราเคยได้ยินแต่แท๊งค์น้ำหรือแท๊งค์กักเก็บน้ำกันใช่ไหมครับ
ตอนเด็กๆ ผมก็เคยถามพ่อผมนะครับว่า ทำไมบ้านเราต้องมีแท๊งค์น้ำด้วยล่ะ? สร้างเพื่ออะไร? ในเมื่อประปาก็จ่ายน้ำให้เราได้เหมือนกัน ป๊าผมก็ทำการอธิบายแบบง่ายๆ โดยการเปิดก๊อกน้ำจากชั้นสองให้ดูว่าน้ำนี้มาจากประปานะ ผมเห็นเลยว่าไหลช้ามากเพราะแรงดันน้ำประปานั้นคงที่และไม่ได้อัดแรงขึ้นถ้าเราเปิดจากชั้นสองของบ้าน ส่วนแท๊งค์น้ำนั้นอยู่ดาดฟ้าของบ้าน เวลาเปิดก๊อกน้ำที่ใช้น้ำจากแท๊งค์น้ำ น้ำนั้นจะไหลแรงมากๆ ส่วนสาเหตุที่เราต้องการน้ำแรงดันสูงๆ เพราะบางกิจกรรมนั้นเรารอไม่ได้ครับ เช่น อาบน้ำ(จะให้น้ำไหลแบบช้าๆ ก็คงเป็นหวัดกันพอดี), หรือฉีดก้น(อันนี้ผมเคยลองฉีดกับบ้านที่น้ำที่ไหลช้าๆแล้วครับ แทบไม่สะอาดเลย)
การชาร์จไฟก็เช่นกันครับ ถ้าเราไปชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากับตู้ชาร์จไฟที่มีความแรง 27 kW ในสถานีชาร์จนั้นล่ะก็ กว่าแบตจะเต็ม 80 % ก็น่าจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำครับ(อ้างอิงจาก Tesla Model 3/Y Long Range) ซึ่งมันจะแตกต่างกับการชาร์จรถที่ความแรงตู้ชาร์จที่ 150 kW อันนี้ 30 นาทีเต็มได้แน่นอน ต่อให้ลดไฟเหลือ 75 kW ก็ใช้เวลาไม่เกิน 50 นาทีก็เต็ม 80 % ได้แล้ว ทำให้เราจะเห็นได้ว่าการชาร์จไฟที่ความเร็วที่สูงกว่านั้นได้เปรียบกว่าครับ
ชาร์จไฟ 10-80% ใน Tesla Model 3/Y Long Range
ผมเอาข้อมูลมากางให้ตรงนี้ว่าตู้ที่ชาร์จไฟแรงๆ นั้นจะได้เปรียบยังไงบ้างนะครับ
- 27 kW ใช้เวลาชาร์จ 120-200 นาที
- 150 kW ใช้เวลาชาร์จ 20-30 นาที
- 200 kW ใช้เวลาชาร์จ 20-25 นาที
ตู้รับไฟเพียง 27 kW??
ใช่ครับ ตู้ Freewire นั้นรับไฟสูงสุดที่ 27 kW ซึ่งน้อยกว่าการจ่ายออกไปถึง 5 เท่า ซึ่งหลักการการทำงานก็เหมือนแท๊งค์น้ำคือชาร์จไฟมากักเก็บเอาไว้ที่แบตเตอรี่ความจุ 160 kWh แล้วจากนั้นค่อยปล่อยไฟออกที่ความแรง 150 kW หรือ 200 kW อันนี้แล้วแต่ความแรงของตู้นะครับ ซึ่งตู้ชาร์จรุ่นนี้จะมีสองรุ่นคือ
- Boost Charger 150 (จ่ายไฟได้สูงสุดที่ 150 kW)
- Boost Charger 200 (จ่ายไฟได้สูงสุดที่ 200 kW)
ตู้นี้เหมาะกับใคร?
ที่ไทยนั้นมีการกำหนดค่าเป็นค่าพลังงานที่จ่ายออกไปนะครับ โดยเค้าได้แบ่งประเภทอัตราค่าไฟเป็นทั้งหมด 8 ประเภทแต่ผมจะไม่เจาะลึกทั้งหมดครับ ผมขอเอาตัวอย่างเฉพาะประเภทที่ใช้ไฟแถวๆ 20-150 kW มาเปรียบเทียบก็แล้วกันนะครับ
ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
ถ้าจะขอได้เยอะสุดคือ 3 เฟส 75 แอมป์ หรือเทียบเท่าการจ่ายไฟสูงสุดที่ 16.6 kW ครับ ดังนั้นบ้านทั่วไปคงติดตั้งเครื่องชาร์จ DC แบบนี้ไม่ได้แน่นอนครับ
ค่าไฟเริ่มตั้งแต่ 2.34 – 4.42 บาทและถ้าเป็น TOU : On peak 5.1 – 5.7 บาท, Off peak อยู่ที่ 2.6 – 2.63 บาทครับ
ขนาดมิเตอร์ | ขนาดการใช้ไฟฟ้า |
---|---|
มิเตอร์ 30(100) เฟส 1 | 31-75 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 50(150) เฟส 1 | 76-100 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 15(45) เฟส 3 | ไม่เกิน 30 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 30(100) เฟส 3 | 31-75 แอมแปร์ |
ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
อันนี้ก็บ้านอยู่อาศัยที่ทำกิจการ, สถานทูต, รัฐวิสาหกิจ, หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กครับ แบบนี้รับไฟได้สูงสุดที่ 29 kW (ต่ำกว่า 30 kW) ค่าไฟจะอยู่ที่ 3.9 – 4.4 บาท และถ้าเป็น TOU : On peak 5.1 – 5.7 บาท, Off peak อยู่ที่ 2.6 – 2.63 บาทครับ
ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
ธุรกิจ อุตสาหกรรม ส่วนราชการ สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถานทูต สถานที่ทำการของหน่วยงานราชการต่างประเทศ สถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ
ใช้ไฟได้สูงสุดที่ 30-1,000 kW (เป็นระยะเวลา 15 นาทีติดต่อกัน) ค่าไฟอยู่ที่ 3 บาทก็จริงครับ แต่มันจะมีค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 175-221 บาทต่อ kW (ผมไม่แน่ใจว่ามิเตอร์ประเภทนี้จะวัดการรับไฟสูงสุดต่อเดือนหรือป่าว ถ้าสูตรนี้จริงคือ ถ้าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารับไฟสูงสุดที่ 150 kW ก็คูณ 175 บาทคือ 150 x 175 = 26,250 บาทต่อเดือน อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆ รบกวนผู้รู้มา comment ตอบหน่อยนะครับ)
BLINK DRIVE TAKE
คราวนี้ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเกิดเราจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องชาร์จ DC Fast Charge กับห้างร้านฯ ขนาดเล็กที่ไม่สามารถใช้ไฟได้เกิน 30 kW จริงๆ (ไม่งั้นค่าไฟจะแพงขึ้นครับ) ก็กลายเป็นว่าเป็นการตัดสิทธิ์เค้าออกจากการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC Fast Charge เลยนะครับ แต่ถ้าเราสามารถชาร์จไฟเข้าไปที่เครื่องได้ที่ความแรง 27 kW เรื่อยๆ แบบนี้เท่ากับว่าเราซื้อไฟมา 4.4 บาท(หรือ 2.6 บาท offpeak) แล้วมาขายต่อ 6-7 บาทต่อ kWh หน้าแท่นได้นะครับ แบบนี้เรียกว่าลักไก่ไหมน้าา?
แต่ถึงยังไงก็ตาม เครื่องชาร์จตัวนี้ยังไม่เปิดขายให้กับคนทั่วไปนะครับต้องซื้อผ่านตัวแทนหรือองค์กร ดังนั้นลอง e-mail ไปติดต่อบริษัทกันดูว่าราคาประมาณเท่าไหร่นะครับ แต่ที่แน่ๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 6 แสนบาทครับ