Site icon Blink Drive

Tesla ส่งมอบรถในปี 2020 ได้ 499,550 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 40 %

ตอนนี้ ทั้งโลกยังตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กันและที่สำคัญคือบริษัทผลิตรถยนต์ทั่วโลกประสบปัญหาการขายรถยนต์ในปีนี้อย่างหนักกันทุกเจ้าครับ จะเรียกว่าทุกเจ้าอยู่ในแดนลบ(ยอดขายหดตัว) แต่กลับกลายเป็นว่าเทสล่าเป็นบริษัทเดียวในโลกที่มียอดขายอยู่ในแดนบวกแถมยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของเค้านั้นบวกไปถึง 40 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

BLINK DRIVE TAKE

วันนี้ก่อนเข้าไปอ่านบทความ ผมของเอา Blink Drive Take มาอยู่ข้างบนเพื่อให้ทุกคนคิดตามผมก่อนอ่านกระทู้นี้นะครับ

กดดันหรือกีดกัน

พวกเราอาจจะตีความหมายได้ว่ามันมาถึงยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างปฏิเสธไม่ได้อีกแล้วล่ะครับ ไม่ว่าเทสล่าไปเปิดตลาดที่ไหนในโลกต่างก็มีใบจองรถยนต์ไฟฟ้าแห่กันเข้ามาอย่างถล่มทลาย ยกเว้นประเทศไทย เพราะประเทศเรามีกำแพงภาษีเพื่อกดดันผู้ผลิตที่อยากขายรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ามาผลิตรถยนต์ในประเทศเท่านั้นครับ ช่วงหลังมานี้ผมเริ่มแยกความหมายไม่ออกระหว่างคำว่า กดดันกับกีดกันแล้วครับ เพราะต่างประเทศเกือบทั่วโลกลดกำแพงภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เทสล่าเข้าไปขายในประเทศได้อย่างสะดวก อย่างเช่น เกาหลีใต้(ลดกำแพงภาษีไม่พอ กลับแจกเงินให้ประชาชนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า), จีน(ก่อนเทสล่าสร้างโรงงาน ราคา Tesla ในจีนก็ถูกแสนถูกแล้วครับ), ทุกประเทศในยุโรป(ประมาณ 20 กว่าประเทศ), แคนาดา, แม๊กซิโก, ญีปุ่น(เป็นประเทศผู้นำยอดขายรถยนต์น้ำมัน), เยอรมัน(เจ้าพ่อรถยนต์น้ำมันอยู่กันทั้งนั้น) และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน

ฝั่งไทยนั้นแปลความหมายคำว่า “กดดัน” เป็นอะไรก็ไม่รู้ ทำให้เกิดการตั้งกำแพงภาษีใส่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกดดันให้ผู้ผลิตหน้าใหม่เข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายในไทย อารมณ์ประมาณว่า ถ้าอยากขายรถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องทำตามผู้ผลิตเจ้าเก่านะ

จริงๆ เราต้องดู scale (สเกล = มาตราส่วน)ของประเทศเราก่อนนะครับ ประชาชนเรามีเพียง 70 ล้านคน ไม่ใช่ 7,000 ล้านคนครับ เราไม่มีอำนาจหรือ demand ในการไปต่อรองประชาคมโลกได้เลยครับ ไม่มีใครมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศมีกำลังซื้อมากกว่าจีน, อเมริกา, อินเดีย, หรือแม้กระทั่งเวียดนามหรอกครับ ดังนั้นเราไม่มีกำลังซื้อไปต่อรองให้ผู้ผลิตเข้ามาตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้เลย

การใช้วิธีนี้(การกดดันผู้ผลิตให้มาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีใส่รถยนต์ไฟฟ้า) มันเป็นวิธีที่ตรงข้ามกับทุกประเทศทั่วโลกครับ ที่พยายามตั้งเป้าเปลี่ยนประเทศตัวเองเป็นประเทศปราศจากควันพิษบนท้องถนน โดยการทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามาวิ่งบนท้องถนนแทนที่รถยนต์น้ำมันครับ

ผมก็อดสงสัยไม่ได้เลยว่า ทำไมจีน, เยอรมัน, เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ไม่คิดแบบไทยๆ กันบ้างนะ ตั้งกำแพงภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเท่ากับการนำเข้ารถยนต์น้ำมันไปเลย ฮ่าๆ เพื่อกดดัน(หรือกีดกัน)ให้ Tesla มาตั้งฐานผลิตในประเทศของตนเอง (สี จิ้นผิงควรจะต้องมาศึกษางานที่ไทยนะครับ)

ประเทศที่ผมกล่าวมานั้นมี Tesla Model 3 ขายกันตั้งแต่ราคา 1 – 1.8 ล้านบาทและเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ที่เหนือกว่าไทยอีกครับเพราะเป็นต้นกำเนิดยานยนต์ของโลก เค้ายังไม่ “กดดัน” ผู้ผลิตรถยนต์หน้าใหม่ให้เข้ามาขายในประเทศเค้าเลย เค้ายินดีปล่อยให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาผ่านช่องทางภาษี 0 % เป็นกรณีพิเศษเพื่อ “กดดัน” ให้ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าเก่าหันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครับ

เอาล่ะกันครับ กลับมาคุยเรื่องยอดขายเทสล่าในปี 2020 นี้กันต่อ ถ้ามองจากกราฟ(ภาพแรกด้านบนสุด)จะเห็นว่ากราฟ ไตรมาส 1-4 ในปี 2020 พุ่งทะลุเพดานเก่าที่เคยทำเอาไว้ในปี 2019 เกือบทั้งหมดครับ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็คือ Tesla Gigafactory แห่งที่ 3 ณ ประเทศจีน ทำให้กำลังผลิตที่เป็นคอขวดนั้นทะลักเข้าสู่ตลาดจีนและส่งออกไปยังยุโรปครับ

ยอดผลิต/ส่งมอบไตรมาส 4 ปี 2020

 ไตรมาส 4 ปี 2020ผลิตส่งมอบ
Model S/X16,09718,920
Model 3/Y163,660161,650
Total179,757180,570

ยอดผลิต/ส่งมอบปี 2020

 ยอดปี 2020ผลิตส่งมอบ
Model S/X54,80557,039
Model 3/Y454,932442,511
Total509,737499,550
ที่มา : Tesla

เราจะเห็นกันได้เด่นชัดว่ายอดผลิตกับยอดส่งมอบนั้น ตัวเลขไม่เท่ากันนะครับ เพราะต่อให้ผลิตได้แต่ส่งมอบไม่ทันปิดบัญชีประจำปี ยอดนั้นก็จะไม่ถูกยกไปยังยอดส่งมอบครับ ถ้าดูตัวเลขกันตามจริงแล้ว ยอดผลิตของ Tesla นั้นพุ่งทะลุ 500,000 คันในปีนี้ไปแล้วครับ เสียดายที่ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ลูกค้าไม่ทัน อย่าลืมน่ะครับว่า Tesla ผลิตได้เพียงในอเมริกาและ Model 3 ได้สิทธิพิเศษในการผลิต 2 ประเทศคือจีนและอเมริกาเท่านั้นครับ แต่ลูกค้านั้นมาจากทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, อังกฤษ, ฮ่องกง, และไต้หวัน ดังนั้นรถที่ผลิตออกมาแล้ว บางส่วนนั้นยังอยู่บนเรือขนส่งสินค้าหรือรถบรรทุกอยู่เลยครับ

อ้างอิงจากภาพด้านล่างจะเห็นได้ว่า ปี 2019 นั้น Tesla สามารถส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้เพียง 367,200 คันและต้องมองอีกมุมนึงด้วยนะครับว่าตอนนั้น Tesla ผลิตได้เพียงแห่งเดียวในโลกนั่นก็คือ เมือง Fremont รัฐ California ครับ ทำให้กำลังผลิตมันกระจุกตัวอย่างมาก ตอนนั้นกำลังซื้อของคนทั่วโลกนั้นล้นกำลังผลิตไปเยอะมากครับ ทำให้ส่งมอบไม่ทันเลย

ปี 2020 นั้น Tesla ได้สร้างฐานผลิตเพิ่มในประเทศจีนซึ่งนั่นก็คือ Tesla Gigafactory 3 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ทำให้กำลังผลิตพุ่งสูงขึ้นมาเกือบเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี้ Tesla Gigafactory 3(จีน)ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 1 รุ่นเท่านั้นซึ่งนั่นก็คือ Tesla Model 3 ครับ ทำให้ยอดส่งมอบรถที่จีนนั้นไม่ได้เยอะเท่าที่ควร

มาปีนี้ 2021 , ปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพราะ Tesla ตั้งฐานการผลิตเพิ่มถึง 2 ที่บนโลกนี้ที่แรกนั่นก็คือเยอรมัน, ที่ๆสองที่จะผลิตรถกระบะไฟฟ้า cybertruck ก็คือ Texas ประเทศอเมริกา ทำให้ยอดขายปี 2021 นี้จะสูงกว่า 500,000 คันภายในกลางปีนี้อย่างแน่นอนครับ แถม Gigafactory 3 (จีน)นั้นได้รับใบอนุญาตในการผลิต Tesla Model Y ซึ่งตอนนี้มีใบจองโผล่ขึ้นมา(เฉพาะประเทศจีน)มากถึง 100,000 ใบครับ

ภาพ : Tesla China ออกมาประกาศขอโทษที่เว็บล่มจากการที่มีคนจีนแย่งกันเข้ามาจองซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model Y

หมายเหตุ : ข่าวนี้เป็นข่าวจากวงในของ Tesla โดยเค้าได้เชคหมายเลขใบจองในเว็บแล้วแจ้งให้ Tesmanian ทราบครับ ซึ่งตอนนี้น่าจะเกินตัว 100,000 คันไปไกลแล้วครับ

และยังมีประเทศโลกที่สามอีกหลายประเทศที่ได้จับมือกับ Tesla เพื่อวางแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Tesla รุ่นต่างๆ แล้วนะครับ หนึ่งในนั้นก็คืออินเดียครับ

รัฐมนตรีคมนาคมอินเดีย เปิดเผยว่า บริษัท เทสลา ผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน เตรียมบุกตลาดอินเดียต้นปีหน้า…

Posted by Blink Drive on Wednesday, December 30, 2020

นี่ยังไม่รวมการผลิตรถกระบะไฟฟ้า Tesla Cybertruck และการเปิดตัว Tesla Model S Plaid Mode ปลายปีนี้นี้อีกด้วยนะครับ ยังไม่มีใครคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในปีนี้จะทะลุ 1 ล้านคันหรือป่าวนะครับ แต่ที่แน่ๆ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในปีนี้(2021)จะสูงกว่าปี 2020 อย่างแน่นอน

แล้วคุณยังคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นแค่ของเล่นเด็กไอทีเนิร์ดกันอีกหรอครับ?

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Exit mobile version