Blink Blink
EV CarsTesla

ZEV Credit คืออะไร? ทำไม Tesla ถึงทำเงินได้มากถึง 5 หมื่นล้านบาทจากการขาย credit เหล่านี้?

ZEVคืออะไร?

โปรแกรม ZEV (ซึ่งย่อมาจากคำว่า Zero Emission Vehicle) นั้นถูกสร้างขึ้นโดยกฏข้อบังคับของรัฐแคลิฟอร์เนียที่บังคับให้บริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่ายให้แก่ประชาชน ณ ปัจจุบันนี้ มีรัฐอื่นในอเมริกามากกว่า 10 รัฐ(โคโรลาโด้, คอนเนคติคัท, เมนด์, แมรี่แลนด์, แมสซาชูเซส, นิว เจอร์ซี่, นิวยอร์ค, โอเรกอน, โรดด์ ไอซ์แลนด์, และ เวอร์มอนท์) เข้าร่วมโปรแกรม ZEV นี้อีกด้วย

เป้าหมายของโปรแกรม ZEV นี้คือทำให้แน่ใจว่าบริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ ต้องวิจัยพัฒนา(research & development)และวางขายรถยนต์ไฟฟ้า(EVs) หรือพูดทางอ้อมว่า บังคับให้ผู้ผลิตหันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

หน่วยงาน CARB (California Air Resources Board) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลมลพิษทางอากาศของแคลิฟอร์เนียนั้นเป็นต้นหนในการกำเนิดโปรแกรม ZEV นี้

รถประเภทไหนจัดอยู่ในหมวดหมู่ ZEV บ้าง?

  • Plug-in hybrid : รถยนต์น้ำมันที่มีแบตขนาดใหญ่และรูเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟจากบ้านเรื่อน
    รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Chevrolet Volt, Toyota Prius Prime(เป็นรุ่น PHEV) เป็นต้น
รูปภาพ : PHEV – Toyota Prius Prime
  • Battery electric vehicles : รถยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ 100% มีแต่แบตเตอร์รี่อย่างเดียว
    รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Tesla Model S, Nissan leaf, Tesla Model 3, Tesla Roadster, Chvrolet Bolt, Audi E-tron, Porsche Taycan, เป็นต้น
รูปภาพ : BEV – Porsche Taycan

  • Hydrogen fuel cell vehicle : ใช้ Fuel Cell เป็นแหล่งพลังงานหลัก และใช้แบตเตอรี่ หรือ Super-Capacitor (SuperCap) เป็นตัวเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ดีขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า ใช้ hydrogen มาเป็นทำปฏิกริยากับ oxygen ในแผง fuel cell จากนั้นก็ผลิตกำลังไฟฟ้าออกมาเพื่อไปปั่นมอเตอร์
    รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Toyota Mirai เป็นต้น
รูปภาพ : FCEV – Toyota Mirai

หมายเหตุ : ผู้อ่านทุกท่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เค้าไม่เอารถยนต์น้ำมัน hybrid ที่ไม่มีรูเสียบปลั๊กมารวมในรถประเภท ZEV นะครับ ดังนั้นใครอยากผลิตรถยนต์น้ำมัน hybrid ก็ผลิตไปครับ แต่รัฐไม่สนับสนุนเพราะมันคือรถยนต์น้ำมัน

กฏระเบียบ ZEV นั้นบังคับใช้ยังไง?

โปรแกรม ZEV นั้นไม่ได้หักดิบกับผู้ประกอบการให้ไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาทันทีทันใดหรอกนะครับ เพราะตัวโปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นมาในปี 1990 ก็จริง แต่เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในปี 2012 และก็เข้มข้นขึ้นมาทุกปีครับ โดยโปรแกรมนี้จะกำหนด ZEV credits ขึ้นมาเพื่อให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้วนำมาแลก credit นี้ไปใช้เพื่อผลิตรถยนต์น้ำมันของตนเอง

ZEV Credit นี้ทำงานค่อนข้างซับซ้อนหน่อยนะครับ เนื่องจาก ณ ปัจจุบันยังมีการเอา plug-in hybrid มานับรวมอยู่ และแต่ละปีกฏระเบียบเกี่ยวกับ ZEV Credit ก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ผมจะอธิบายเป็นสองส่วนนะครับ

ส่วนแรก : สัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ ZEV

อย่างปี 2019 นั้นบริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ จำเป็นต้องมี ZEV Credit อย่างน้อย 7 % แต่ถ้าในปี 2025 แล้ว บริษัทผลิตรถยนต์ต้องมี ZEV Credit มีถึง 22 % ครับ

หรือเรียกได้ว่า ใน ปี 2019 นั้น ถ้าบริษัทผลิตรถยนต์ขายรถยนต์น้ำมันได้ 100 คัน, เค้าต้องขายรถยนต์ ZEV ให้ได้ 7 Credit ครับ ส่วนใน ปี 2022 นั้น ถ้าบริษัทผลิตรถยนต์ขายรถยนต์น้ำมันได้ 100 คัน, เค้าต้องขายรถยนต์ ZEV ให้ได้ 22 Credit ครับ

ส่วนสอง : อัตราส่วน ZEV Credit ระหว่าง plug-in และ BEV/FCEV นั้นไม่เท่ากัน

รัฐแคลิฟอร์เนียเห็นว่า ถ้ากำหนดให้การขายรถยนต์น้ำมัน plug-in hybrid จำนวน 1 คันเท่ากับการขายรถยนต์ไฟฟ้า(BEV) หรือ รถยนต์ไฮโดรเจน(Fuel cell) จำนวน 1 คันก็จะทำให้ผู้ผลิตพยายามเตะถ่วงคือ ไม่หันไปขายรถยนต์ไฟฟ้าซักที

รัฐเลยออกกฏหมายซ้อนทับมาอีกตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ หันหน้าไปผลิตรถยนต์น้ำมัน plug-in hybrid อย่างเดียว

โดยในปี 2019, ZEV Credit นั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ลึกลงไปอีก คือ PHEV(plug-in hybrid) นั้นให้มีได้เพียง 43 % จากยอด ZEV credit ทั้งหมด หรือเรียกได้ว่าอีก 57 % นั้นต้องเป็นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(BEV) หรือ รถยนต์ไฮโดรเจน(Fuel cell) เท่านั้น

ยกตัวอย่าง : ถ้าบริษัทผลิตรถยนต์รายใดขายรถยนต์ได้มากถึง 100,000 คันในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2018 นี้ พวกเค้าจำเป็นต้องหา ZEV Credit มาทั้งหมด 7,000 credits ซึ่งใน 7,000 credit นี้ต้องมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) หรือ รถยนต์ไฮโดรเจน (Fuel cell) ทั้งหมด 4,000 credit ครับ ส่วนที่เหลือ 3,000 credit ก็สามารถเอา ยอด PHEV มาทับได้ครับ

หมายเหตุ : 1 ZEV Credit ไม่ได้เท่ากับ รถยนต์ไฟฟ้า 1 คันนะครับ เดี๋ยวจะอธิบายด้านล่างว่าเค้ามีสูตรในการคำนวณอย่างไร

สูตรการคิด ZEV Credits

อย่างที่ผมได้บอกไปว่าการที่ผู้ผลิตจะได้รับ ZEV Credits มาใช้แลกสิทธิในการขายรถยนต์น้ำมันนั้น ผู้ผลิตต้องผลิตรถยนต์ ZEV ตามที่รัฐกำหนด

แต่ตั้งแต่ปี 2018 ไปนี้ ระบบการคิดคำนวณ ZEV Credit นั้นได้เปลี่ยนใหม่โดย รถยนต์น้ำมัน plug-in hybrid ถูกลด credit ลงจากเดิมเหลือเพียง 0.4 – 1.3 credit ต่อคัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์พลังงานไฮโดนเจนนั้นถูกผลักขึ้นไปเป็น 1-4 credit ต่อคัน

หมายเหตุ : ที่เค้าทำ scale ระหว่าง 1 – 4 หรือ 0.4 – 1.3 มานั้น จะกำหนดว่ารถคันนั้นวิ่งได้ไกลไหมต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถ้ารถคันนั้นวิ่งได้ไกล credit ก็จะได้เยอะขึ้น แต่ก็มีเพดานของแต่ล่ะหมวดหมู่ครับ)

ยกตัวอย่างจากภาพด้านล่าง :

  • Toyota prius prime นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ plugin-hybrid ซึ่งวิ่งด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวได้เพียง 25 ไมล์(85 km) ก็ได้ credit ไปเพียง 0.9 credit ต่อการผลิต 1 คัน
  • Chevrolet volt นั้นเป็น plug-in hybrid ที่มีแบตใหญ่กว่า ซึ่งวิ่งด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวได้ถึง 53 ไมล์(40 km) ก็ได้ credit ไปเพียง 1.3 credit ต่อการผลิต 1 คัน
  • Chevy Bolt นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวซึ่งวิ่งได้ไกลถึง 259 ไมล์(416 km) ต่อการชาร์จ 1 ครั้งก็ได้ credit ไปถึง 3.9 credit ต่อการผลิต 1 คัน
  • Toyota Mirai เป็นรถยนต์พลังงานไฮโดนเจนซึ่งวิ่งได้ไกลถึง 312 ไมล์(502 km) ต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง ก็ได้ credit ไปถึง 4.0 credit ต่อการผลิต 1 คัน
ภาพ : greencarreport

ซื้อ-ขาย ZEV Credit ได้ไหม?

อ้าว แบบนี้มันก็ไม่แฟร์สำหรับบริษัทผลิตรถยนต์น้ำมันที่ยังไม่ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตนเองสิครับ ดังนั้นทางรัฐก็อนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์นั้นสามารถซื้อ-ขาย ZEV Credits กันโดยสะดวก ในส่วนของการซื้อ-ขายนี้ เรายังสามารถทำการฝาก(banking) credit เพื่อเอาไปใช้ปีหน้าได้อีกด้วยนะครับ

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา การทำ banking(ฝาก)ก็ได้เติบโตขึ้นมาตลอดเพราะตอนนั้นมีการแจกจ่าย extra credit เต็มไปหมด ทำให้ผู้ผลิตนั้นไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไรกับระบบ ZEV Credit มาก เรียกได้ว่า ผู้ผลิตทุกค่ายก็ยังผลิตรถยนต์น้ำมันแบบชิวๆ ต่อไป

แต่หลังจากเดือนตุลาคมปี 2018 ทางรัฐได้มีการเชคยอด ZEV credits ที่ฝากกันเข้ามาปรากฏว่าสูงถึง 816,000 credit จากรถประเภท BEV(Battery 100%)/FCEV(Fuel Cell) และ 251,000 credit จากฝั่ง PHEV(plug-in hybrid) ซึ่งรัฐมองว่า ถึงเวลาแล้วล่ะที่จะเริ่มเก็บ credit กลับมาให้มากยิ่งขึ้น

ผลพลอยได้ก็ตกไปอยู่กับบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวอย่างเทสล่ายังไงละครับ ในทุกๆ ปีนั้นเทสล่าได้ทำการขาย ZEV Credits ออกไปเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า เป็นพ่อค้ารับ ZEV Credit มาปล่อยเลยเพราะบริษัท tesla นั้นไม่ผลิตรถยนต์น้ำมัน ดังนั้นการถือ ZEV Credit ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมาเนอะ สู้เอาไปขายเอาเงินมาพัฒนาบริษัทดีกว่า ฮ่าๆ

ที่มา : ucusa.org

เทสล่าขาย ZEV Credits ได้มากถึง 5 หมื่นล้านบาทแล้ว

ในอดีตนั้น การขาย ZEV Credit นั้นจะต้องเก็บรายชื่อผู้ซื้อ(buyers) เป็นความลับแหละครับ

แต่มาถึงปี 2019 แล้วรายชื่อต่างๆก็ถูกเปิดเผยขึ้นแหละครับ

ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงวันนี้ เทสล่านั้นทำเงินจากการขาย ZEV Credit ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆถึง 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่า 5 หมื่นล้านบาท

โดยลูกค้ารายใหญ่ของเทสล่าก็คือ FCA(Fiat Chrysler Automobiles) และ GM(General Motors)

เอกสารการสั่งซื้อ ZEV Credit หรือบางคนเรียกว่า Carbon Tax ระหว่าง GM และ Tesla

ดังนั้นจึงมีคนแซวกันว่า gigafactory 4 ที่กำลังจะสร้างขึ้นที่เยอรมันนั้นจะใช้เงินเหล่านี้ไปลงทุนแหละครับ ฮ่าๆ

ที่มา : businessinsider

BLINK DRIVE TAKE

เขียนอธิบายมาเยอะมาแล้วครับในโพสนี้

ไม่อยากฝากอะไรมากหรอกครับ

ถ้าอยากฝากอะไรอย่างนึงได้จากโพสนี้

ก็อยากฝากให้แชร์ไปให้รัฐบาลไทยดูหน่อยครับ ให้เค้าได้ศึกษาจากประเทศที่พัฒนาแล้วว่า เค้าวางแผนในการลดมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง

ผมไม่เคยบอกว่า รถยนต์น้ำมันเป็นสาเหตุเดียวในการสร้าง PM 2.5 นะครับ เชื่อว่าการเผาป่าหรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรกอย่างถ่านหินนั้นสร้างมลพิษทางอากาศแน่นอนครับ แต่สิ่งนึงที่ผมยืนกรานก็คือ รถยนต์น้ำมันมีส่วนในการสร้าง PM 2.5 ในเมืองแน่นอนครับ ดังนั้นถ้าพวกท่านไปศึกษาจากประเทศอังกฤษที่มี เขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด (Ultra-Low Emissions Zone หรือเขต ULEZ) แล้วก็เข้าใจครับว่า พวกเค้าวางแผนที่จะใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์น้ำมันภายในปี 2030 แน่นอน

ของแบบนี้มันต้องใช้เวลาครับ เรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามันควรจะเป็น long term plan ด้วยครับ

ผมเข้าใจ แต่เราต้องเริ่มสร้างกฎเกณฑ์กันเพื่อเข้าไปหาเป้าหมาย(ลดมลพิษ)ได้แล้วครับไม่อย่างงั้นประเทศเราจะไม่เหลืออากาศบริสุทธิ์ให้ลูกหลานได้สูดดมนะครับ

Stay tune, stay with Blink Drive

Follow by Email