Site icon Blink Drive

ถ้าหันมาใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมด, รถ EV จะยังสะอาดกว่ารถน้ำมันไหม?

เมื่อ 4 วันที่แล้ว ผมได้รับ comment จากสมาชิกเพจ (คุณ Attapon Surapattananon : Admin กลุ่ม SpaceX Thailand Fanclub กลุ่มผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีอวกาศบริษัท SpaceX) เกี่ยวกับแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ล่ะประเทศครับ ผมจึงอยากนำบทความของแกมาแปลงเป็นโพสเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลในอนาคต ถือว่าสร้าง EV Database อีกชิ้นให้กับสังคมไทยนะครับ

Credit ข้อมูลทุกอย่างในนี้มาจากคุณ Attapon ครับ

รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้สะอาดไปกว่ารถน้ำมัน, จริงหรือ?

ช่วงหลังๆ มานี้มีบทความมากมายที่บอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้สะอาดรักษ์โลกอย่างแท้จริง บ้างก็บอกถึงขั้นว่า รถยนต์น้ำมันยังสะอาดกว่า บ้างก็บอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าสะอาดมากกว่ารถน้ำมันอยู่แล้ว แต่ยังแพ้รถยนต์ไฮบริด บ้างก็บอกว่า คำนวณยังไงรถยนต์ไฟฟ้าก็สะอาดกว่ายานพาหนะทุกรูปแบบอยู่ดี ตกลงอันไหนคือความเป็นจริงกันแน่ ผมจะตามหาคำตอบให้กับทุกท่านเอง

แต่ก่อนที่จะพูดขึ้นมาว่ารถยนต์แบบไหนสะอาดรักษ์โลกมากกว่ากัน ผมคิดว่าเราจะต้องมาดูกันก่อนว่า ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแบบไหนบ้าง ผมขออ้างอิงข้อมูลจาก BP Statistical Review of World Energy 2019 นะครับ โดยจะเป็นตัวเลขของปี 2018 แล้วผมจะปรับตัวเลขให้เป็น % ซึ่งจะได้ออกมาดังนี้

ไทยใช้ น้ำมัน 0.1% แก๊สธรรมชาติ 65.5% ถ่านหิน 20.2% พลังน้ำ 4.2% พลังหมุนเวียน 10% (ไทยเอาน้ำมันมาผลิตไฟฟ้าแค่ 0.1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี)

BP Statistical Review of World Energy 2019


แต่พวกงานวิจัยเกี่ยวกับการปล่อย CO2 ของรถยนต์ไฟฟ้า มักจะคำนวณจากยุโรปบ้าง จากอเมริกาบ้าง ซึ่งประเทศเหล่านี้มีรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ต่างจากไทย ทำให้หลายๆ คนสงสัยกับงานวิจัยเหล่านี้ว่ามันจะเอามาอ้างอิงกับประเทศไทยได้จริงหรือ?


ดังนั้นมันเลยต้องหาประเทศที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่มีความใกล้เคียงกับประเทศไทย มันถึงจะเอามาอ้างอิงได้ ซึ่งผมไปเจอเว็บไซต์คำนวณค่า CO2 ของรถยนต์แบบต่างๆ ของกระทรวงพลังงานอเมริกา ข้อดีของเว็บนี้คือ คำนวณแยกเป็นรัฐๆ ไปเลยว่า แต่ละรัฐรถยนต์แต่ละประเทเภทจะปล่อย CO2 ออกมาแค่ไหน จากที่ผมไล่ดูมาทุกรัฐ ผมพบว่ามีอยู่ 1 รัฐ ที่มีรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย นั่นก็คือ รัฐ Ohio ครับ ลองดูรูปที่ผมแนบไปครับ


ก็จะพบว่า ไม่ว่ายังไงรถยนต์ไฟฟ้า รถปลั๊กอินไฮบริด และรถไฮบริด ก็ปล่อย CO2 น้อยกว่ารถใช้น้ำมันแน่ๆ ครับ ดังนั้นคำพูดที่บอกว่ารถใช้น้ำมันดีกว่าโยนทิ้งไปได้เลยครับ ไร้สาระ 


จุดที่รัฐ Ohio ต่างจากไทยคือ มีสัดส่วนการใช้แก๊สธรรมชาติน้อยกว่าไทยนิดหน่อย แต่ใช้ถ่านหินถึง 39.22% ทีนี้ถ้าลองปรับให้ลดการใช้ถ่านหินลง 19% แล้วเอา 19% นี้ไปโปะเพิ่มให้กับแก๊สธรรมชาติ เพื่อให้สัดส่วนใกล้เคียงกับไทยมากขึ้น ถ้าหากผมทำแบบนี้ คุณคิดว่าการปล่อย CO2 ของรถยนต์ไฟฟ้า กับ รถปลั๊กอินไฮบริดจะเป็นยังไงครับ?


คำตอบคือ การปล่อย CO2 ของรถ 2 ชนิดนี้ จะลดลงมาอีกเล็กน้อยครับ เพราะว่าถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อย CO2 เยอะกว่าแก๊สธรรมชาติมากเลยครับ ดังนั้นพอลดสัดส่วนของถ่านหิน แล้วไปเพิ่มให้กับแก๊สธรรมชาติ การปล่อย CO2 ของไทยจึงน้อยกว่ารัฐ Ohio ไปเล็กน้อย ถ้าหากไม่เชื่อลองกดดูรูปต่อไปเลยครับ
.
รูปต่อมาเป็นรูปการปล่อย CO2 ของรถยนต์ในรัฐ Rhode Island ครับ รัฐนี้มีการใช้แก๊สธรรมชาติมาเป็นแหล่งพลังงานถึง 93.66 % แต่การปล่อย CO2 ออกมาก็พบว่า รถยนต์ไฟฟ้าปล่อยออกมาน้อยที่สุดอยู่ดี ทีนี้กดดูรูปต่อไปเลยครับ


.
รูปต่อมาเป็นรูปการปล่อย CO2 ของรถยนต์ในรัฐ West Virginia รัฐนี้ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานถึง 91.07% คุณจะพบว่ารถยนต์ไฮบริดกลายเป็นรถที่ปล่อย CO2 น้อยที่สุดไปในทันที รถปลั๊กอิน กับรถยนต์ไฟฟ้าแพ้ไปเยอะพอสมควร แต่ก็ยังดีกว่ารถใช้น้ำมัน

ทีนี้คุณก็จะเข้าใจแล้วว่าถ่านหินมันปล่อย CO2 ออกมามหาศาลขนาดไหน และจากสัดส่วนการใช้ถ่านหินของไทย มันก็จะสรุปได้ว่าระดับการปล่อย CO2 ของรถยนต์ประเภทต่างๆ ของไทย มันจะต้องน้อยกว่ารัฐ Ohio ไปเล็กน้อย ผลลัพธ์ที่ได้คือ รถใช้น้ำมันจะปล่อย CO2 ออกมาเยอะสุด รถยนต์ไฮบริดปล่อย CO2 น้อยกว่าเกือบครึ่ง และรถยนต์ไฟฟ้าปล่อย CO2 น้อยกว่ารถไฮบริดไปอีกนิดหน่อย ส่วนรถปลั๊กอินไฮบริดนั้น ปล่อย CO2 มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า และไม่ได้ดีไปกว่ารถไฮบริดเลย เผลอๆ อาจจะปล่อย CO2 มากกว่ารถไฮบริดไปเล็กน้อยด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นเพราะว่ามันเป็นรถที่ใช้ทั้งน้ำมัน แล้วก็ไฟฟ้านั่นเอง แล้วพอมาเจอสัดส่วนพลังงานแบบที่ไทยกับรัฐ Ohio ทำให้รถปลั๊กอินไฮบริดไม่ได้ดีไปกว่ารถไฮบริดเลย

แล้วทีนี้ถ้าหาก Ohio กับ ไทย ลดการใช้ถ่านหินและแก๊สธรรมชาติลง แล้วเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดให้มากขึ้นเป็น 40% ระดับการปล่อย CO2 ก็จะเป็นแบบรัฐ Pennsylvania


ทีนี้ระดับการปล่อย CO2 มันก็จะเป็นแบบที่ควรจะเป็นคือ รถใช้น้ำมันปล่อยเยอะสุด รองลงมาเป็นรถไฮบริด รองลงมาเป็นรถปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าปล่อยน้อยสุด ดังนั้นสัดส่วนของการใช้พลังงานสะอาดก็ส่งผลต่อการปล่อย CO2 ของรถยนต์ไฟฟ้า และรถปลั๊กอินไฮบริดด้วยครับ

สรุป

จากข้อมูลทั้งหมดก็จะสรุปได้ว่า ถ้าหากคุณอยู่ประเทศไทย ยังไงรถยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดครับ ส่วนรถปลั๊กอินไฮบริดนั้นไม่ได้ดีกว่ากว่ารถไฮบริด และอาจจะด้อยกว่าไฮบริดไปเล็กน้อยด้วย แต่แน่นอนว่ารถปลั๊กอินก็ยังดีกว่ารถใช้น้ำมันเยอะอยู่ดี ดังนั้นใครที่สามารถเลิกใช้รถยนต์น้ำมันได้ ก็เลิกใช้ไปเลยครับ 



ส่วนใครที่อยู่ในประเทศที่ใช้ถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า 60% ขึ้นไป หรือใช้น้ำมันมาผลิตไฟฟ้า 70% ขึ้นไป ตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณจะไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่รถปลั๊กอินไฮบริด แต่จะเป็นรถยนต์ไฮบริดครับ

แล้วใครที่อยู่ในประเทศที่ใช้ถ่านหินและน้ำมันน้อยกว่า 8% และใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 17% ขึ้นไป หรือคนที่อยู่ในประเทศที่ใช้ถ่านหินไม่เกิน 20% และใช้พลังงานสะอาดไม่น้อยกว่า 35% ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือ รถยนต์ไฟฟ้า ดีรองลงมาคึอ รถปลั๊กอินไฮบริด และอันดับ 3 คือ รถยนต์ไฮบริดครับ

สุดท้ายนี้จะแถมรูปเพิ่มอีก 2 รูปครับ คือรูปการผลิตไฟฟ้าของรัฐ Hawaii ที่ใช้น้ำมันเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า รถยนต์ของรัฐนี้จะปล่อย CO2 ออกมาแค่ไหนไปดูกันได้ และรูปสุดท้ายเป็นรูปไฮไลท์เลยครับ คือรัฐ Vermont เป็นรัฐที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้าถึง 99.92% นี่เป็นตัวเลขที่ดูน่าทึ่งมากครับ นึกไม่ถึงว่าจะก้าวหน้าไปไกลขนาดนี้ และรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ปล่อย CO2 ออกมาเลย 

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

พูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารเทคโนโลยีได้ที่ Discord นี้

Exit mobile version