Blink Blink
Latest news
TeslaUSA

Autosteer, Autopilot, และ FSD Beta แตกต่างกันยังไง? แต่ล่ะตัวทำงานยังไงบ้าง? พบคำตอบในโพสนี้ครับ

สวัสดีชาว Blink Drive ครับ ผมได้รับคำถามมาจากคุณ Ken (ผู้ใช้งาน Tesla ในไทย)เกี่ยวกับความแตกต่าง Tesla Autopilot กับ Autosteer นะครับ

คำเตือน : โพสนี้เป็นโพสที่ค่อนข้างยาวอย่างมาก ถ้าท่านเข้ามาอ่านแล้วจะรู้สึกว่า จบยากก็อย่าเพิ่งท้อใจครับเพราะผมใช้เวลาเขียนนานเช่นกัน ฮ่าๆ

ก่อนที่จะเข้าเรื่องนั้นเราจะต้องมาทำความรู้จัก Hardware(อุปกรณ์)ที่ใช้ควบคู่กับ Software ของรถกันก่อนนะครับ

ฮาร์ดแวร์ที่ใช้สำหรับ Autosteer, Autopilot, และ FSD Beta นั้นมีอะไรบ้าง?

  1. กล้องหลังรถ(เอาไว้มองรถที่กำลังจะแซงเรา)
  2. ตัวเซนเซอร์ Ultrasonic เอาไว้วัดระยะวัตถุรอบรถ ถูกตัดออกแล้วหลังจากเดือนตุลาคม 2022
  3. กล้องดูจุดอับตรงเสาประตู B Pillar
  4. Cabin Camera : กล้องภายในห้องโดยสาร
  5. กล้องตรงไฟเลี้ยวรถ : เอาไว้ดูรถหลังจากฝั่งซ้ายและขวา
  6. Radar ซึ่งปัจจุบัน Tesla Model 3 และ Model Y รุ่นผลิตหลังเดือนพฤษภาคมปี 2021ได้ถูกนำออกหมดแล้ว เพราะ Tesla หันมาใช้กล้อง 3 ตัวหน้ารถในการกะระยะแทนครับ

Tip & Trick : รู้หรือไม่? ว่ารถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของคุณทุกรุ่นนั้นยังไม่สามารถใช้งาน Autosteer ได้ภายใน 200-300 km แรกที่ซื้อมาเพราะกล้องรอบคันยังไม่ถูก Calibrate (ปรับค่า)ให้เข้ากับถนนในประเทศนั้นๆ เราจำเป็นต้องขับรถเป็นระยะทาง 150 ไมล์หรือ 240 km เพื่อทำการ calibrate (ปรับค่า)ให้กล้องรอบคันสามารถจับวัตถุต่างๆ บนท้องถนนได้นะครับ

ปล. ถ้าใครเปลี่ยนกระจกหน้ารถมาใหม่ก็ต้องโดน calibrate กล้องเช่นกันครับ

เอาล่ะครับ ถ้าทุกท่านเข้าใจอุปกรณ์ของ Tesla Model 3 / Model Y แล้วเราจะพาทุกท่านเข้าสู่คัมภีร์ FSD (Full Self Driving) กันนะครับ ผมจะเขียนสิ่งที่รถ Tesla ทำได้ตั้งแต่ Basic(พื้นฐาน)ไปจนถึงขั้น Advance(ก้าวหน้า)สุดๆ กันไปเลยครับ

  1. Traffic-Aware Cruise Control (ที่มา Traffic-Aware Cruise Control)
  2. Autosteer (ที่มา Autosteer)
  3. Navigate on Autopilot (ที่มา Navigate on Autopilot)
  4. FSD Beta

1. Traffic-Aware Cruise Control

Traffic-Aware Cruise Control นั้นหรือจะเรียกภาษาชาวบ้านว่า Adaptive Cruise Control ก็ได้ครับ ระบบนี้จะแตกต่างจาก Cruise Control ที่อยู่ในรถทั่วไปตรงที่ Cruise Control ทั่วไปจะสามารถตั้งความเร็วสูงสุดได้อย่างเดียว สมมุติรถคันหน้าขับ 100 km/h แต่รถเราตั้ง Cruise speed เอาไว้ที่ 120 km/h ถ้าเราไม่แตะเบรคก็ชนคันหน้าทันที แต่ Traffic-Aware Cruise Control นั้นสามารถตั้งค่าต่างๆ ได้ดังนี้ครับ

  1. Cruising Speed : ความเร็วสูงสุดในการขับ
  2. Following Distance : ระยะห่างที่รถ Tesla ควรจะมีจากคันข้างหน้า
  3. Speed Offset : ให้รถวิ่งได้มากกว่า Speed limit(ความเร็วจำกัด)ที่ตั้งเอาไว้ในจำนวนที่กำหนด
  1. Cruising Speed : โหมดนี้เป็นโหมดพื้นฐานในการตั้งค่า Traffic-Aware Cruise Control ซึ่งการจะ Activate ระบบนี้นั้นก็เริ่มจากการตบก้านเกียร์รถ Tesla ลง 1 ครั้งแบบภาพด้านล่างนี้ครับ

จากนั้นเราสามารถปรับความเร็วสูงสุดของ Cruising Speed โดยใช้ลูกกลิ้งด้านขวาของพวงมาลัยแบบนี้เลยครับ

2. Following Distance : ตั้งค่าระยะห่างที่รถ Tesla ควรจะมีจากคันข้างหน้า เราจะสามารถปรับระยะห่างรถของเราจากคันข้างหน้าได้โดยกดลูกกลิ้งตรงฝั่งขวาของพวงมาลัยไปแบบภาพด้านล่างนี้นะครับ

จากนั้น ระบบจะโชว์ ไอคอน(ด้านล่าง)แบบนี้ขึ้นมา ซึ่งรถ Tesla จะสามารถปรับระยะห่างได้ถึง 7 ระดับครับ (ส่วนตัวผมแล้วเวลาขับ highway ผมจะตั้งเอาไว้ที่เลข 7 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยระหว่างผมกับรถคันข้างหน้าครับ)

โหมดนี้แหละที่เป็นโหมดมหัศจรรย์ที่ผมทึ่งครั้งแรกที่ได้ขับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เลยล่ะครับ เพราะโหมดนี้มันจะปรับความเร็วของรถให้เท่ากับคันข้างหน้า สมมุติว่า เราขับรถด้วยความเร็ว 120 km/h แล้วเราขับไปถึงคันข้างหน้าที่ขับช้ากว่าเรา(100 km/h) รถ Tesla จะทำการลดความเร็วให้สัมพันธ์กับคันข้างหน้าคือปรับความเร็วของเราให้เหลือ 100 km/h

คราวนี้ถ้ารถคันข้างหน้าหลบไปทางขวาหรือซ้ายเราแล้วรถ Tesla จะเร่งความเร็วรถให้กลับไปที่ 120 km/h เพื่อขับต่อไปเรื่อยๆ ครับ โหมดนี้นี่ช่วยลดความเหนื่อยล้าของเท้าขวาเราเป็นอย่างมากเลยครับ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ ความมหัศจรรย์ของรถ Tesla นั้นมันเพิ่งเริ่มต้นครับ มาๆ มาดูโหมดถัดไปกันครับ

2. Autosteer

2. Autosteer

Autosteer หรือบางคนเข้าใจผิดว่านี่คือ Autopilot นั้นก็ไม่ผิดครับ เพราะระบบนี้มันช่วยเราขับขี่ซะอย่างกับเป็น Autopilot จริงๆ แหละครับ ก่อนอื่นเลย สำหรับทุกท่านที่เคยใช้งาน Tesla มาแล้วจะรู้ว่าการเปิดใช้งานโหมดนี้นั้นไม่ได้ยากอะไรเลยครับ เพียงแค่เรากดก้านเกียร์(ฝั่งขวา)ลง 2 ครั้งเหมือน double click เม้าส์ครับ ตัวรถ Tesla ก็จะเข้าสู่โหมด Autosteer ทันทีครับ

พวงมาลัยสีน้ำเงิน

สิ่งที่สังเกตุได้ว่ารถของคุณเข้าสู่โหมดนี้หรือยังให้ดูทึ่ไอคอนพวงมาลัย

Autosteer นั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Autonomous driving (ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ) level 2 นะครับ โดยระบบนี้จะช่วยประคองพวงมาลัยให้เราเพื่อประคองรถให้อยู่ภายในเลนถนนแต่เพียงเท่านั้น (เปลี่ยนเลนไม่ได้) ผมชอบระบบนี้นะครับ ผมจำได้ว่าเคยขับรถทางไกล 200 km โดยเท้าผมแทบไม่ได้สัมผัสคันเร่งหรือเบรคเลย และมือผมแค่แตะพวงมาลัยทุก 20-30 วินาทีเท่านั้น (ขับทางไกลสบายมากๆ)

ข้อดีของระบบนี้คือลดความเหนื่อยล้าจากการขับทางไกลโดยคนขับเพียงแค่สัมผัสพวงมาลัยเป็นระยะๆ เท่านั้นครับ แต่ยังไงตาก็ต้องมองไปด้านหน้าอยู่ดี อย่าประมาทกับการใช้งานระบบนี้นะครับ ถ้าคุณไม่ยอมจับพวงมาลัยทุกๆ 20-30 วินาทีจะโดนไอคอนแจ้งเตือนแบบนี้ครับ

ปล. ระบบ Autosteer นั้นจะยังไม่ได้ใช้งานกล้องภายในห้องโดยสารเพื่อจับความผิดปกติของคนขับครับ ดังนั้นคนขับสามารถลักไก่ใช้ Autopilot buddy แบบภาพด้านล่างนี้ไปก่อนได้ครับ แต่ถ้าคุณใช้งานโหมดถัดไปจากนี้แล้ว Autopilot buddy ไร้ประโยชน์ครับ

3. Navigate on Autopilot

โหมดนี้คือ Autopilot ครับ หรือจะเรียกว่า Autonomous driving (ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ) level 2.5 ก็ได้ครับ ส่วนคนที่จะใช้ฟังชั่นนี้ได้จะต้องซื้อ software package(ซอฟแวร์ แพ๊คเก็จ) EAP (Enhanced Autopilot) หรือ FSD(Full Self-Driving) จาก Tesla นะครับ อันนี้แล้วแต่ประเทศที่ซื้อรถว่าเค้าเปิดขายแบบไหนครับ บางประเทศอย่างฮ่องกงก็ไม่มี EAP (Enhanced Autopilot ) มาขายเลยก็มีครับ

อย่างของอเมริกานั้น Tesla ได้หยุดขาย EAP (Enhanced Autopilot ) ไปในปี 2019 แล้วเมื่อ 4 วันที่แล้ว(วันที่ 17 มิถุนายน 2565) อีลอนประกาศว่าจะเอา EAP กลับมาขายอีกครั้งครับ

โดยราคาขาย EAP (ผมขอเรียกชื่อย่อเลยนะครับ)จะอยู่ที่ $5,700 หรือ 199,500 บาทครับ

ฟีเจอร์นี้แหละครับคือ Autopilot ของจริงของเทสล่า ระบบ EAP นี้จะช่วยเหลือคนขับในการขับขี่รถบนถนน highway แบบคล่องแคล่วกว่า Autosteer อย่างมากครับ ซึ่งจะไปตรงกับคำถามที่คุณ Ken ถามเอาไว้สำหรับการตั้งกระทู้นี้นะครับ แต่ก่อนอื่นผมขออธิบายฟีเจอร์ของระบบนี้ก่อนนะครับ

  • Speed Based Lane Changes : อันนี้เป็นกึ่งอัตโนมัตินิดๆ นะครับ ฟีเจอร์นี้จะเป็นการตั้งค่าการเปลี่ยนเลนเพื่อแซงรถคันข้างหน้าครับ ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิดแน่นอนครับ รถ Tesla ที่มีระบบนี้จะสามารถขับแซงรถคันข้างหน้าเราได้ครับ ในกรณีรถคันข้างหน้าเราขับช้ากว่า Cruising speed ของรถเราครับ อย่างกรณีด้านบนที่ผมสมมุติมาก่อนหน้านั้นคือ รถคันข้างหน้าขับ 100 km/h แล้วรถเราตั้ง Cruising speed 120 km/h ตัวรถจะไม่เพียงชะลอวามเร็วเท่านั้นแต่ยังหาช่องทางเพื่อทำการแซงคันข้างหน้าอีกด้วยครับ
    • ฟีเจอร์นี้จะสามารถปรับการเปลี่ยนเลนได้ทั้งหมด 3 โหมดด้วยกันครับคือ
      • Mild – เปลี่ยนเลนหรือแซงไม่ค่อยบ่อย (คนชราหรือคนที่ไม่รีบ)
      • Medium – เปลี่ยนเลนหรือแซงแบบปกติ (คนปกติ)
      • Mad max – เปลี่ยนเลนหรือแซงทุกครั้งที่มีช่องว่างให้เปลี่ยน(หัวใจนักซิ่งก็เลือกอันนี้ไปเลยครับ)

หมายเหตุ : ถ้าคุณเปิดใช้งานระบบนี้ในอเมริกา คุณต้องมองไปข้างหน้าด้วยนะครับ ผมเคยลองก้มกดมือถือแล้ว ระบบแจ้งเตือนเหมือนผมไปทำไฟไหม้บ้านอีลอนเลย (ไอคอนสีแดงจ้ามาเลย พร้อมกับสีแดงเตือนดังมากๆ) ดังนั้นตั้งแต่ระบบนี้ไปอุปกรณ์ Autopilot Buddy ก็คือก้อนหินธรรมดาก้อนนึงครับ(ไร้ประโยชน์ไปเลย)

Require Lane Change Confirmation

อย่างไรก็ตามระบบ Autopilot นั้นก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนเลนถนนตามอำเภอใจหรอกนะครับ ดังนั้น Tesla เลยสร้างฟีเจอร์อีกอันขึ้นมาเรียกว่า Require Lane Change Confirmation คือผู้ขับขี่สามารถเลือกโหมดการเปลี่ยนเลนได้ว่า จะให้รถเปลี่ยนเลนเองทุกครั้งโดยไม่ต้องรับการอนุญาติจากเราหรือทุกครั้งที่มีโอกาสเปลี่ยนเลนจะต้องขออนุญาติเราเพื่อทำการเปลี่ยนเลนนะครับ (ส่วนตัวผมตั้งให้รถขออนุญาติผมก่อนเปลี่ยนเลน เพราะเคยปล่อยให้รถผมเปลี่ยนเลนเองแล้ว หัวใจจะวายครับ รถไปขับตัดหน้าคันข้างๆ ไปหมด กลัวตายด้วยลูกปืนอย่างมากครับ ฮ่าๆ)

ปล. คนที่ซื้อ EAP มาได้นั้นจะได้ฟีเจอร์รถต่างๆ ดังนี้นะครับ

  • Navigate on Autopilot (อธิบายด้านบนไปแล้ว)
  • Auto Lane Change(อธิบายด้านบนไปแล้ว)
  • Autopark (คลิปด้านล่าง)
  • Summon (สั่งรถเดินหน้า หรือ ถอยหลัง)
  • Smart Summon (ระบบเรียกรถมารับ – วิดีโอด้านล่างนี้)

จะรู้ได้ไงว่า รถเราใช้ Autosteer หรือ Autopilot อยู่?

วิธีการเชคว่ารถเรามี Autopilot หรือป่าวก็ไม่ยากเลยครับ ลองวิ่งรถของตนเองแล้วกดคันเกียร์ลง 2 ทีเพื่อเปิดโหมด Autosteer หรือ autopilot ครับ ถ้ารถวิ่งอยู่มีเส้นสีฟ้าประกบข้างรถ 2 เส้นแสดงว่ารถคุณใช้งาน Autosteer อยู่ครับ แต่ถ้ารถคุณมีเส้นสีฟ้าเพียง 1 เส้นตรงการรถ นั่นคือระบบ Navigate on Autopilot ครับ ผมขออนุญาตทิ้งภาพเปรียบเทียบเอาไว้ด้านล่างนี้ด้วยเลยนะครับ

อย่าง 9arm ก็เคยเอา AUTOPILOT มาแสดงให้ดูนะครับ (ย้ำว่า Navigate on Autopilot นะครับ ยังไม่ใช่ FSD Beta ครับ เดี๋ยวจะทำการเล่าเรื่อง FSD Beta ให้ฟังด้านล่างนี้ครับ)

ส่วนถ้าเราเปิด Cruise Control เอาไว้เฉยๆ นั้นจะไม่ปรากฏเส้นสีฟ้าใดๆ ทั้งสิ้นแบบภาพด้านล่างนี้ครับ

ระบบ Navigate on Autopilot นั้นแตกต่างจาก Autosteer ไปอย่างที่ผมเอ่ยมาด้านบนนะครับ แต่มีสิ่งนึงที่ไม่เอ่ยเพิ่มเติมก็คงไม่ได้คือ ถ้าคุณใส่จุดหมายปลายทางให้กับระบบนี้แล้ว(ในต่างประเทศทำได้ ในไทยต้องรอ Tesla มาเปิด Official ถึงจะสามารถใช้ Navigation(ระบบนำทาง)ได้นะครับ) เวลาเข้าโค้งนั้น ระบบ Navigate on Autopilot จะทำการชะลอความเร็วในการเข้าโค้งให้ด้วย ซึ่ง Autosteer ไม่ทำให้เรานะ โค้งที่ต้องใช้ความเร็ว 60 km/h รถมา 90 km/h ก็ไม่ชะลอนะครับ วิ่งซัดโค้งไปเลย แต่ Autopilot มันจะดูความเหมาะสมของแต่ล่ะโค้งและปรับความเร็วให้สัมพันธ์กับการเข้าโค้ง แถมตอนวิ่งออกจากโค้งนั้นระบบจะเร่งความเร็วให้กลับมาเท่ากับ Cruising speed ที่เราตั้งค่าเอาไว้ด้วยครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ รถวิ่งด้วยความเร็ว 120 km/h พอเข้าโค้งก็ลดความเร็วลงเหลือ 80 km/h พอออกจากโค้งก็เร่งความเร็วไปเป็น 120 km/h เท่าเดิมนะครับ (ตอบคำถามคุณ Ken ตรงนี้นะครับ) เหมือนระบบนี้จะเรียนรู้โค้งต่างๆ บนท้องถนนนะครับ ผมเอาวิดีโอการใช้งาน Navigate on Autopilot มาให้ชมด้านล่างนี้ด้วยนะครับ

ปล. ถ้ารถลงถนน highway เมื่อไหร่ ระบบการขับขี่จาก FSD Beta จะเปลี่ยนเป็น Navigate on Autopilot ทันที เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังด้านล่างในหัวข้อของ FSD Beta นะครับ

เอาล่ะครับมาถึงจุด climax(สุดยอด)กันเสียทีครับ คำถามที่ทุกท่านสงสัยมานานว่า FSD (Full Self Driving) คืออะไร? ทำยังไงถึงจะได้มันมา เรียกได้ว่ามีเงินก็ซื้อมาใช้งานไม่ได้นะครับ ต้องสอบให้ผ่านเสียด้วย ฮ๋าๆ

FSD Beta

FSD Beta นั้นคือระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ level 3 นะครับ ซึ่งปัจจุบัน Tesla ใช้คำว่า Beta ต่อท้ายเพื่อให้ลูกค้าที่นำไปใช้งานกันต้องรู้ว่ามันคือเวอร์ชั่นทดสอบ ไม่ใช่ใช้งานได้ 100% จริงๆ เอาจริงๆ มันมี Bug (ข้อผิดพลาด)อยู่ค่อนข้างเยอะมากๆครับ ทุกคนที่ได้รับการอนุญาติให้ใช้งาน FSD Beta ต้องทำการกด Yes เพื่อใช้งาน ซึ่งใน Box(กล่องข้อความ)ก็จะเขียนเอาไว้ชัดเจนมากๆ ว่านี่เป็น Version Beta(ทดสอบ) คนขับต้อง pay constant attention(มีสติและจดจ่อ)อยู่กับการขับขี่ตลอดเวลา ไม่ใช่ปล่อยให้รถขับเองเนื่องจากความผิดพลาดของตัวรถยังมีเยอะอยู่ครับ

มีเงินอย่างเดียวก็ขับ FSD Beta ไม่ได้นะ, รู้ไหม?

ประวัติความเป็นมาของ FSD Beta นั้นเริ่มตอนเดือนตุลาคมปี 2021 ซึ่งตอนแรกนั้น Tesla เปิดให้คนเข้ามาใช้งานได้เพียงแค่ 1,000 คนเท่านั้น!!! โดย 1,000 คนนี้จะต้องสอบ Tesla Safety Score ให้ได้เต็ม 100/100 คะแนนครับ แล้วยังไม่พอเค้าจะคัดเลือกคนที่ขับได้เลขไมล์เยอะที่สุด 1,000 คนแรกที่ได้แค่ 100/100 คะแนนมาทดสอบ เรียกว่า สอบเข้าจุฬายังง่ายกว่าสอบให้ผ่านเพื่อให้ได้ Tesla FSD Beta มาขับในช่วงแรกเลยครับ

ลองคิดดูสิครับว่า Tesla ในอเมริกามากกว่า 500,000 คัน ดังนั้นคนที่สอบผ่านในปี 2021 ต้องเป็นผู้โชคดี 1 ใน 500 คนเลยนะครับ

ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า คนที่จะได้ FSD Beta มาขับนั้น มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ครับคนต้องเข้าเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

  1. อาศัยอยู่ในอเมริกาและเป็นเจ้าของ Tesla รุ่นใดก็ได้
  2. ต้องซื้อ subscription หรือซื้อขาด FSD software จาก Tesla
  3. ต้องทำคะแนนให้ได้ 95/100(อีลอนเพิ่งลดกำแพงคะแนนลงในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาเหลือ 95/100)

ตอนแรกที่ผมได้ FSD Beta มานั้นดีใจยิ่งกว่าสอบ TOEFL ผ่านหรือการเข้ามหาลัย ป.โทในอเมริกาเสียอีกครับ เท่ากับว่าผมเป็นผู้ใช้งานต้นๆ ในโลกที่ได้ทดสอบใช้งาน FSD Beta Software เอาล่ะครับ เดี๋ยวผมจะขออธิบายคะแนน safety score ของ Tesla ให้ฟังนิดหน่อยนะครับ

คะแนน safety score ไม่ถึงไม่ได้ขับ FSD??

ใช่แล้วครับ ทุกท่านอ่านไม่ผิดหรอกครับ ผมได้รับการยืนยันมาจากพี่โต๋(เจ้าของ Tesla model 3 ในอเมริกาและ Tesla Model Y ), พี่นีน่า(เจ้าของ Tesla Model 3) และพี่ไช้(เจ้าของ Tesla Model 3 ในอเมริกา) ว่า ต่อให้เรามีเงินซื้อ FSD มาใช้แล้ว แต่เราจำเป็นต้องสอบผ่านหรือได้คะแนนเต็ม 100 คะแนนในช่วงแรกที่เค้าเปิดให้ใช้งานนะครับ หลังจากนั้นเฟสถัดไปก็เป็นคนขับที่ได้คะแนน 99 และ 98 ตามลำดับลงมานะครับ (อารมณ์เหมือนสอบ TOEFL ยังไงยังงั้นเลย)

คะแนนเหล่านี้จะมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

Forward Collision Warning

ขับจี้คันหน้า(มากเกินไป)ก็จะโดนหักคะแนน
ยกตัวอย่าง : แค่คุณขับรถจี้ตูดคันหน้าห่างแบบ 4-5 เมตรก็โดนหักคะแนนตรงนี้แล้ว ดังนั้น คนขับได้คะแนนตรงนี้ 100 % หรือไม่มีข้อผิดพลาดเลยคือต้องเป็นคนขับเรียบร้อยระดับนึงเลยครับ

Hard Braking

เบรคหน้าทิ้มปุ๊บโดนหักคะแนนทันที
ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผมที่เคยโดนหักคะแนนเนื่องมาจากรถมาปาดหน้าเราแล้วเราทำการเบรค พอกดตัว P เพื่อจอดปุ๊บ(เวลาเรากดตัว P ระบบของรถจะทำการส่งคะแนนขึ้น Tesla Cloud Server ทันที)คะแนนผมลดทันทีครับ

Aggressive Turning

เลี้ยวด้วยความเร็วสูงหรือมากกว่า 1 G(แรงเหวี่ยง)ก็โดนแล้วครับ
ยกตัวอย่าง แฟนผมโดนหักคะแนนจากตรงนี้บ่อยมากๆ เพราะเวลาเราจะขับมาแล้วทำการหักเลี้ยวซ้ายเพื่อให้ทันไฟเขียว(ความเร็วในการเลี้ยวแถว 30 mph หรือ 48 km/h ก็โดนแล้วครับ ช่วงหลังมานี้พวกเราแทบจะตีโค้งแบบสิบล้อกันเลยทีเดียวเพื่อป้องกันการหักคะแนนจากหมวดนี้ ฮ่าๆ

Unsafe Following

จอดชิดคันหน้าหรือขับเข้าใกล้คันหน้ามากเกินไป
อันนี้งงมากๆ คือแบบว่า ถ้าคุณขับไปชิดคันหน้าเกินไปเวลาติดไฟแดงก็โดนหมวดนี้แล้ว ช่วงหลังมาผมแทบจะทิ้งที่ว่างให้รถมาจอดได้อีกคันเลย

Forced Autopilot Disengagements

ไม่จับหรือสัมผัสพวงมาลัยระหว่างใช้งาน Autopilot
จริงๆ แล้ว ระบบจะแจ้งเตือนทั้งหมด 3 ระดับก่อนคือ อย่างแรกจะเป็นแทบสีฟ้ากระพริบๆ จากนั้นถ้าเรายังฝืนไม่จับพวงมาลัยอีก ระบบจะส่ง message มาบอกว่า “จับพวงมาลัยเดี๋ยวนี้” ถ้าเรายังดื้อไปต่ออีก คราวนี้ตัวรถจะร้องเสียงดังมากๆ และหน้าจอจะกระพริบเป็นสีแดง ซึ่งถ้ามาถึง level สุดท้ายก็จะโดนหักคะแนนครับ

หลังจากที่ทุกท่านเห็นเงื่อนไขต่างๆ นี้แล้ว ก็พอจะมองออกแล้วใช่ไหมครับว่า FSD Betaดังนั้น ไม่มีทางที่จะปล่อยให้คนขับนิสัยเสียมาขับรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างแน่นอนครับ

ที่มา : Tesla

FSD Beta แตกต่างจาก Autopilot ยังไง?

ถ้าให้อธิบายแบบประโยคเดียวให้เข้าใจเลยก็คือ

FSD Beta ขับบนถนน local Road (ถนนสัญจรความเร็วต่ำ) ได้ ส่วน Autopilot ขับได้เฉพาะ Highway (ถนนสัญจรความเร็วสูง)เท่านั้น

ถ้าอยากให้ผมขยายความอีกก็คือ เวลาเราขับบนถนน local Road (ถนนสัญจรความเร็วต่ำ) นั้นจะมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นเต็มไปหมดเช่น เวลาเลี้ยวซ้าย(อเมริกา)รถจะต้องทำการข้ามเลนฝั่งตรงข้ามไปยังถนนอีกเส้นนึงซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ดีรถที่กำลังวิ่งมาจากอีกฝั่งพุ่งชนอย่างแน่นอน อันนี้ต้องใช้ AI และ Machine learning Model หลายตัวมาคำนวณว่าระยะปลอดภัยในการหักเลี้ยวคือเมื่อไหร่, และต้องออกตัวตอนไหนครับ อันนี้คือโจทย์ที่ยากมากๆ จริงๆแล้วอธิบายอย่างเดียวคงไม่เข้าใจครับ ผมเอาวิดีโอการเลี้ยวซ้ายมาให้ดูเสียเลยครับ (สุดท้ายระบบไม่กล้าเลี้ยวเสียทีจนทำให้ผมต้องขับเอง)

อีกความสามารถนึงที่ FSD Beta ทำได้คือขับตามท้องถนนและเลือกที่จะเปลี่ยนเลนเอง , เลี้ยวเองหรือจะเรียกได้ว่า พาเราจะบ้านไปยังโรงเรียนได้เองครับ แต่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการพัฒนา บางครั้งก็ทำได้โดยที่ผมไม่ต้องใส่ input (ไม่ต้องจับพวงมาลัยหรือเหยียบคันเร่ง)อะไรเข้าไปเลย แต่บางครั้งก็ต้องเหยียบเบรคเพื่อไม่ให้เค้าขับผ่าไฟแดงแบบนี้ครับ คลิปด้านล่างนี้จะเห็นได้ว่ารถสามารถขับไปเรื่อยๆได้ถึง 14 นาทีก่อนที่จะผ่าไฟแดงนะครับ ผมมองว่ารถสามารถลดความเหนื่อยล้าให้ผม 14 นาทีเลยนะครับ ถึงจะผิดพลาดไปครั้งนึงก็เถอะ

ส่วน Autopilot นั้นจะทำงานได้เฉพาะบนถนน Highway หรือถนนที่วิ่งเส้นตรงอย่างเดียวครับ อันนี้คือระบบไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนครับ คือรถจะมีหน้าที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว มีการเปลี่ยนเลนซ้าย-ขวาบ้างแต่จะไม่มีการเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนถนนที่ขับเหมือน FSD Beta ครับ

  • Autopilot(ภาพซ้าย) : ขับไปข้างหน้าได้อย่างเดียว(เปลี่ยนเลนซ้าย-ขวาได้) , ขับเข้าถนนเส้นเล็กไม่ได้
  • FSD Beta(ภาพขวา) : ขับเลี้ยวซ้าย, เลี้ยวขวา, ยูเทิร์นรถ, และขับเข้าไปถนนเล็กกว่าหรือถนนเลนใหญ่กว่าได้

หมายเหตุ : ณ ปัจจุบันนั้น Tesla เปิดให้ประเทศอเมริกาใช้งาน FSD Beta แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นครับ ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศถัดไปที่จะได้ FSD Beta คือประเทศแคนาดาครับผม อย่างไรก็ตาม คุณต้อม iMoD ได้บินมาพิสูจน์การใช้งาน Tesla FSD Beta ในอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ

ทุกท่านสามารถรับชมคลิปสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ FSD Beta ได้ตามคลิปด้านล่างนี้เลยครับ แล้วคุณจะรู้เลยว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า รถในอเมริกาอาจจะไม่ต้องมีพวงมาลัยแล้วก็เป็นได้ครับ

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Follow by Email