สวัสดีครับ เมื่อ 2 วันที่แล้ว มีสมาชิกเพจ(คุณบัส [เจ้าของผู้นำเข้ารถอิสระ Highway Auto Thailand ซึ่งเป็นคนที่ผมเคยไปสัมภาษณ์รีวิวขั้นตอนการซื้อ Tesla Model 3 ในไทย เพื่อเอาข้อมูลมาให้ทุกคนได้อ่านครับ] )เค้าได้ทำการส่งข้อมูลการเดินทางระหว่าง กรุงเทพ กับ พัทยาด้วย Tesla Model 3 รุ่น Long Range มาให้ผมดูนะครับ ซึ่งผมได้ทำการแชร์ลงไปในเพจ Blink Drive ก่อนหน้านี้แล้ว จากนั้นผมก็สอบถามข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมและเอามาเขียนเป็นโพสตรงนี้เพื่อให้ทุกท่านได้ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปพร้อมๆ กันนะครับ
สเปครถที่ใช้ขับ
ก่อนอื่นเลยผมขอเอาสเปครถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 รุ่น Long Range รุ่นที่คุณบัสมากางตรงนี้นะครับ
- Range (ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง) : 353 miles (568 km)
- แบตเตอรี่ NMC ขนาด 75 kWh
- อัตราเร่ง 0-100 km/h ภายใน 4.6 วินาที
- ระบบขับเคลื่อน : มอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว(หน้า 1, หลัง 1)
- ขับเคลื่อน 4 ล้อ
- ความแรง : 449 แรงม้า(มอเตอร์หน้า 197 แรงม้า, มอเตอร์หลัง 252 แรงม้า)
- ความเร็วสูงสุด : 233 km/h
- รุ่นนี้เป็นรุ่นผลิตจีน MIC แต่เนื่องจากเป็น Long Range ยังใช้แบต NMC เหมือนสเปคอเมริกาครับ
ก่อนออกเดินทางนั้น คุณบัสได้ถ่ายรูปหน้าจอเอาไว้ว่า รถมีแบต 100% ซึ่ง Range จะตกอยู่ประมาณ 547 km (น้อยกว่าที่ Tesla เคลมเอาไว้ประมาณ 21 km) เนื่องจากว่ารถยนต์ไฟฟ้าทุกคันไม่ว่าจะยี่ห้อไหนนั้นจะมี Guess-O-Meter(แปล มาตราวัดแบบเดา)จากพฤติกรรมการขับขี่ของแต่ล่ะท่าน
อ่านต่อ GOM (Guess-O-Meter)คืออะไร?
เส้นทางที่คุณบัสใช้เดินทางนั้นมีระยะทางประมาณ 180 km โดยคุณบัสใช้ Mode Chill(จะเป็นเหมือนโหมด eco นะครับ คือการตอบสนองคันเร่งจะช้าลง แต่ได้ความประหยัดพลังงานเข้ามาแทนที่ครับ)
ทดสอบระบบ Auto Pilot
มาถึงอีกส่วน คือเรื่อง Auto-pilot ซึ่งจะเป็นโหมดที่ช่วยขับเพื่อลดความเหนื่อยล้าของคนขับไม่ได้มาขับให้นะครับ คุณบัสได้ลองทดสอบถ่ายวิดีโอช่วงนึงโดยทำการปล่อยเท้าออกจากคันเร่งและปล่อยมือพร้อมถือกล่อง KFC ซึ่งอันนี้เป็นการสาธิตว่าใช้งานแบบปล่อยมือได้จริงนะครับ เค้าไม่ได้ขับอย่างนี้ตลอดทางครับ ส่วนใหญ่จะใช้มือแตะและประคองพวงมาลัยเพื่อความไม่ประมาทครับ
คุณบัสมาถึงโรงแรม X2 Pattaya พร้อมกับไฟที่เหลือเพียง 305 km
ระยะทางไป 150 km
ระยะทางที่วิ่งนั้นประมาณ 160 km(รวมแวะพักข้างทาง) พร้อมความเร็วเฉลี่ยที่ 120 km/h ส่วน Range หายไปประมาณ 242 km ถือว่าลงไปลึกพอสมควรแต่ถ้าใครจะมาพัทยาแล้วล่ะก็ การขับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 Long Range มานั้น สามารถมาถึงที่หมายอย่างหายห่วงครับ
แต่เท่าที่ดูจากหน้าจอแล้ว ถ้าไปเช้า เย็นกลับนั้นอาจจะต้องแวะชาร์จซักหน่อยเพื่อความอุ่นใจครับ
การชาร์จไฟเข้ารถ[CHARGING]
หลังจากที่เดินทางมาถึงโรงแรมที่พักแล้ว คุณบัสก็ได้ทำการเสียบที่ชาร์จเข้าไปแล้ว รถ Tesla Model 3 จะบอกสถานะทันทีว่าอีกกี่ชั่วโมงจะชาร์จเต็ม 100 % ซึ่งตัวรถจะคำนวณจากแบตเตอรี่คงเหลือและ charging speed(ความเร็วในการชาร์จ)ครับ
โดยคุณบัสได้ตั้งค่าตัว Charger ตัวนี้ให้ปล่อยไฟออกมาเพียง 16 Amp เท่านั้น(หรือเรียกได้ว่าตั้งค่าต่ำสุดของที่ชาร์จรถอันนี้เลยครับ) ผมมีข้อมูลการตั้งค่าเอาไว้ด้านล่างนี้ครับ
ส่วนอุปกรณ์การชาร์จก็อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า ลูกค้าโรงแรม(คุณบัส)ต้องเตรียมมาเองครับ ซึ่งคุณบัสมีตัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Zen Car อยู่แล้ว(เดี๋ยวผมจะเล่าสเปคให้ฟังด้านล่างนี้ครับ) ส่วนที่ต้องซื้อมาเพิ่มคือ ปลั๊กพ่วงครับ
คุณบัสได้บอกอีกว่าปลั๊กพ่วงนี่เป็นตัวช่วยชีวิตแกเลยเพราะว่าตอนแกชาร์จรถนั้นฝนดันตก(แต่ไม่หนักมาก)ทำให้แกต้องเอาที่ชาร์จไปวางหลบฝนใต้ท้องรถเพื่อหลบฝน ถ้าไม่มีปลั๊กพ่วงนั้นปลั๊กที่ชาร์จอันนี้ของแกก็จะต้องตากฝนแน่เลย จริงๆแล้วแท่นชาร์จตัวนี้มีมาตราฐานกันน้ำได้ถึง IP54 ซึ่งเป็นระดับที่กันฝุ่นและน้ำได้ดีครับ แต่ตัวหัวปลั๊กมันไม่ได้กันน้ำครับ
มาตราฐาน IP54 คืออะไร?
ตัวเลขแรกคือ เลข 5 ซึ่งแปลว่า มีการป้องกันจากฝุ่นผงละออง แต่ต้องเป็นฝุ่นละอองของสารที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายครับ
ตัวเลขที่สองคือ 4 หมายถึง มีการป้องกันจากน้ำได้รอบทุกทิศทาง
ที่มา : v-track
ส่วนหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดกันฝนได้ 100% ครับ ดังนั้นอยากให้ทุกท่านไปห่วงที่ตัว Charger Adapter ดีกว่าว่ากันน้ำได้ไหมครับ ถ้าไม่ได้ก็เอาวางไว้ในที่ร่ม(ที่น้ำเข้าไม่ถึงก็พอแล้วครับ)
สเปคที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Zen Car
- ใช้ไฟได้ 2 ระดับคือ 110 Volt กับ 220 Volt
- ปรับระดับ Amp ได้จาก 16 Amp ถึง 40 Amp
- สายไฟยาวประมาณ
- ราคา 11,500 บาท จาก Highway Auto Thailand
ข้อดีของที่ชาร์จรุ่นนี้คือปรับระดับความแรงในการชาร์จจากเครื่องชาร์จได้เลยครับ อย่างที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Chevrolet Bolt ของผมนั้นไม่สามารถปรับระดับกระแสไฟ(Amp)ได้เลยทำให้ต้องหาปลั๊กที่มี Breaker สูงกว่าการใช้งานมาใช้
แต่ที่ชาร์จ Zen Car ของคุณบัสนั้นจะสามารถปรับรับกระแสไฟที่ตัวชาร์จโดยการเอาบัตรเขียว(อันเล็กๆ)ไปแตะที่เครื่องชาร์จเพื่อทำการเปลี่ยนกระแสไฟครับ ผมมีคลิปให้ดูด้านล่าง
อันที่จริงแล้วรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 นั้นสามารถปรับการรับกระแสไฟเข้ารถได้ตามใจนึกเลยครับ แต่ถ้ามีอุปกรณ์ที่ลดกระแสไฟได้แบบนี้ก็จะเป็นการดีกว่าเพราะถ้าเกิดเราลืมปรับกระแสไฟของ Model 3 นั้นอาจจะสร้างความยุ่งยากเวลาชาร์จ เช่น เบรคเกอร์ตัดหรือไฟปลั๊กพ่วงไหม้ เวลาจ่ายกระแสไฟเกินค่ารองรับของแต่ล่ะอุปกรณ์ที่เป็นสะพานไฟในการใช้งานครับ
อยากชาร์จฟรีต้องทำไง?
อย่างที่แนะนำไปเมื่อกี้คือ เราต้องเอาที่ชาร์จมาเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้าท่านผู้อ่านอยากไปเที่ยวที่ไหนก็ลองติดต่อโรงแรมตามจังหวัดที่เราจะไปเที่ยวดูนะครับว่าเค้ามี support(ช่วยเหลือ)จัดหาสถานที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาให้เราหรือป่าว ? ถ้ามี ก็เป็น choice ที่ดีเลยครับ อย่างโรงแรมนี้มีแค่ปลั๊กมาให้ แต่บางโรงแรมตอนนี้ผมเริ่มเห็นแล้วว่ามีชุดชาร์จสำเร็จรูปมาให้เลย เรียกได้ว่า เวลาไปถึงก็เข้าไปชาร์จได้เลยครับ
อย่างของเคสนี้นั้น ทางคุณบัสได้ติดต่อทางโรงแรมเพื่อขอเชคว่าโรงแรมอนุญาตให้ชาร์จไฟข้ามคืนระหว่างที่พักอยู่ที่โรงแรมได้ไหม โรงแรมอนุญาตและเตรียมที่จอดรถให้แต่มีเงื่อนไขว่าลูกค้าของโรงแรมจะต้องเอาที่ชาร์จมาเองครับ
ในส่วนของโรงแรม X2 Pattaya ที่คุณบัสไปพักนั้นจะเสียค่าที่พักต่อคืนอยู่ที่ 4,200 บาทเนื่องจากห้องพักหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ(หรูมาก)
ปล. ถ้าเจ้าของโรงแรมท่านไหนอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วมี facility (สิ่งอำนวยความสะดวก)อย่างที่ผมกล่าวมาคือมีที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ลูกค้าฟรี(ผมย้ำว่าชาร์จไฟฟรีให้ลูกค้าที่มาพัก) ก็ทัก Blink Drive มาได้ครับ ผมเขียนรีวิวให้โรงแรมนั้นฟรีๆ เลยครับ เพราะผมอยากสร้างข้อมูลเกี่ยวกับ EV infrastructure ให้กับคนไทยครับ ทักมาได้เลยครับ(ส่งรูปรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จที่โรงแรมพร้อมรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เข้ามาที่ facebook fanpage : Blink Drive) ผมจะเขียนรีวิวแบบนี้ให้ฟรีๆครับ
จริงๆแล้ว ถ้าเราเอาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง(จากรถยนต์น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งทางคุณบัสได้บอกมาว่าเค้าได้ใช้รถไปประมาณ 400 km กับทริปนี้ ถ้าค่าเป็นค่าน้ำมันก็ประมาณ 1,500- 2,000 บาท ดังนั้นถ้าพักโรงแรม 2 คืนก็ตกประมาณ 8,400 บาท(หักค่าน้ำมันออกไป 1,500 บาท) เท่ากับว่าเราเสียเงินค่าโรงแรมจริงๆ ประมาณ 6,900 บาทครับ แต่อย่างของคุณบัสคือเค้าอาศัยอยู่โรงแรม X2 Pattaya เพียง 1 คืน ส่วนอีกคืนนั้นเดี๋ยวตามไปชมกันครับ
ปล. ข้อดีอย่างนึงของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและหาที่ชาร์จได้แบบนี้คือ เราไม่ต้องห่วงเรื่องหาปั้มเติมน้ำมันเวลาเราตื่นเช้ามานะครับ อย่างภาพด้านล่างนี้คุณบัสก็ตื่นเช้ามาเก็บของแล้วเข้ามาดูรถ รถก็มีแบต 100% ให้ขับต่อไปได้แล้วครับ ซึ่งสะดวกสบายกว่าการใช้รถยนต์น้ำมัน(ถ้าเราขอโรงแรมชาร์จได้นะครับ)
Day 2 : นอนอพาร์ทเม้นท์เพื่อน
ในส่วนของวันที่ 2 นั้น คุณบัสอยากบอกมาว่า เค้าอยากลองทดสอบชาร์จไฟจากอพาร์ทเมนท์ดูบ้างว่า ถ้าเกิดเราอาศัยอยู่อพาร์ทเมนท์จริงๆ นั้นมันจะสะดวกหรือยุ่งยากยังไงบ้างนะครับ ซึ่งก่อนเดินทางมาพัทยาเค้าได้นัดกับเพื่อนและบอกเพื่อนเค้าแล้วว่าจะเอารถยนต์ไฟฟ้ามานะ เพื่อนเค้าก็ได้ไปขอ Key Card (RFID)จากเจ้าของอพาร์ทเม้นท์เตรียมเอาไว้ครับ
มาทานข้างก่อนกลับที่ GlassHouse Pattaya
มีที่ชาร์จอยู่ภายใต้ คอนโด ภายในรั้วเดียวกันเลยนะครับ
อพาร์ทเม้นท์ GlassHouse Pattaya แห่งนี้มีที่ชาร์จของ EV LINK ซึ่งเป็นตัว AC ที่สามารถให้กำลังไฟสูงสุดที่ 22Kw ณ ปัจจุบันนั้นมีรถคันเดียวที่รับไฟได้เยอะขนาดนี้คือ Porsche Taycan โดยเจ้าของรถต้องซื้อฟังชั่นชาร์จไฟเร็วแบบนี้มาด้วครับ
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 รุ่น Long Range นั้นจะรับไฟได้สูงสุดที่ 11 kW หรือ 75Km/hr ที่นี่จ่ายไฟได้ดีเท่ากับ Tesla Wall Charger เลยครับ
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการทดสอบชาร์จในอพาร์ทเม้นท์เฉยๆ นะครับว่า ถ้าเราอยู่อาศัยที่นี่จริงจะสะดวกไหม ซึ่งผมมองว่าช่วงหลังนี้อพาร์ทเม้นท์ส่วนใหญ่ก็เริ่มติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเอาใจผู้อยู่อาศัยกันแล้วนะครับ ถ้าใครอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์แล้วมีความคิดอยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็ลองติดต่อส่วนกลางดูนะครับ เผื่อฟลุ๊คได้ที่ชาร์จหล่อๆ แบบนี้มาติดตั้งในอพาร์ทเม้นท์ของท่านเองครับ
หมายเหตุ : คนที่มาชาร์จที่นี่ได้ต้องมี permit (ใบอนุญาต)เท่านั้นครับ คือต้องได้รับอนุญาติก่อนถึงเข้ามาชาร์จได้และผมมั่นใจว่าอพาร์ทเมนท์อื่นๆ ก็ทำเหมือนกันคือ ตั้งแท่นชาร์จเป็น Private Charger (ส่วนบุคคล)เพื่อให้บริการเฉพาะผู้อยู่อาศัยในนั้นเท่านั้น ผมเข้าใจดีครับ ที่อเมริกาก็ทำแบบนี้ เพราะว่าถ้าให้คนนอกมาใช้ต่อให้เก็บเงิน แต่คนใน(คนที่พักอยู่อาศัยจริงๆ)มีธุระและจำเป็นต้องชาร์จจริงๆ มันจะไม่เกิดความสะดวกอะไรกับคนที่อยู่อาศัยเลยครับ
Blink Drive mini Take : ถ้าใครมีอพาร์ทเม้นท์แบบนี้อยู่แล้วอยากโฆษณาแท่นชาร์จสำหรับผู้อยู่อาศัยก็ทัก Blink Drive มาได้ครับ เดี๋ยวจะโฆษณาให้ฟรีๆครับ
สรุปจบทริป
สุดท้าย ถึงที่หมายโดยปลอดภัย พร้อมพลังงานที่เหลือวิ่งได้อีก 300 Km เท่ากับว่าครั้งนี้ เราไม่เสียค่าน้ำมันเลยซักบาท จากปกติ 1,500-2,000 บาท ต่อทริป ประหยัดในส่วนนี้ไปเยอะครับ
คุณบัส
คุณบัสได้แจ้งมาเพิ่มเติมว่าไป-กลับนั้นวิ่งไปประมาณ 300 km กว่าๆ และตัวเค้าได้เอารถไปขับเที่ยวภายในตัวเมือง 2 วัน ตีไป 100 กิโลเมตร ครับ โดยรวมนั้นรถคันนี้วิ่งไปประมาณ 400 km ครับซึ่งถ้าขับรถ 400 km นั้นก็ลองเอารถยนต์น้ำมันของท่านมานั่งคำนวณกันดูว่าจะใช้น้ำมันกี่บาทนะครับ เพื่อเอามาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระยะยาวกับรถคันนี้ครับ
หมายเหตุ : รถยนต์ไฟฟ้ายิ่งเอามาขับเยอะ ยิ่งคืนทุนเร็ว ถ้าท่านเป็นคนขับรถอาทิตย์ล่ะ 50-100 km ก็แนะนำว่าให้ใช้รถคันเดิมที่ท่านมีอยู่ไปก่อนเถอะครับ เพื่อรอจังหวะเปลี่ยนถ่ายทั้งโลก(อีก 4-5 ปีนี้) แต่ถ้าท่านขับรถอาทิตย์ล่ะ 500-800 km หรือเดินทางระยะไกลที่มีสถานีชาร์จระหว่างทางหรือปลายทางแบบในโพสนี้ ผมว่าการเปลี่ยนมาขับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 คันล่ะ 3-4 ล้านบาทสำหรับ Luxury section หรือ MG ZS EV คันล่ะ 1.2 ล้านบาทสำหรับ economic section ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลยครับ
BLINK DRIVE TAKE
หมายเหตุ : Blink Drive ไม่ได้รับเงินหรือค่าจ้างใดๆ จากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสถานที่ๆ กล่าวมาทั้งหมดในรีวิวนี้
ผมทำ content นี้ด้วยใจครับ ถ้าอยากให้อะไรตอบแทนผมก็ไปอุดหนุนโรงแรมหรืออพาร์ทเม้นท์ที่ผมกล่าวมาเถอะครับ
ผมอยากให้คนไทยหันมาขับรถยนต์ไฟฟ้ากันเยอะๆ ครับ ไม่เกี่ยงว่าจะยี่ห้ออะไร ราคาเท่าไหร่ครับ
ถึงแม้ว่าเราจะมีกำแพงภาษี 200 % กั้นเอาไว้ในหลายรุ่นก็ตาม แต่ผมก็จะสู้(สร้าง content แบบนี้)เพื่อคนไทยครับ
ผมมองว่า คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla แบบคุณบัสมาก่อนพร้อมกับเอามารีวิวนั้นเป็น early adopter และพยายามให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเลิกเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดแหละครับ ดังนั้น ใครมีรีวิวดีๆ แบบนี้ส่งมาให้ผมได้ที่ Blink Drive นะครับ เดี๋ยวผมเขียนรีวิวบรรยายให้แบบนี้ครับ
กติกาคือ ผมจะเขียนโพสรีวิวแต่เส้นทางที่คนยังไม่เคยขับรถยนต์ไฟฟ้าไป ถ้าเป็นเส้นทางที่ซ้ำกันแบบนี้ (กทม. – พัทยา) ผมขอแค่แชร์โพสในเพจนะครับ