Site icon Blink Drive

รีวิว Kia Soul EV (6 เดือน, 17,000 km) จากผู้ใช้งานจริงในไทย

สวัสดีครับ ก่อนอื่นเลย สาเหตุที่ผมชอบสอบถามคนใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ เพราะผมมองว่า คนที่ได้อยู่กับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 4-6 เดือนหรือมากกว่านั้น เค้าเป็นเจ้าของรถ เค้าต้องตรวจเชคทุกอย่างในรถแน่นอน และขับไปใช้งานในชีวิตประจำวันแบบสมบุกสมบัน

ดังนั้น ผมชอบอ่านกระทู้รีวิวการใช้งานจริงของรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศน่ะครับ เพราะมันทำให้ผมเห็นมุมมองเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในแง่ผู้ใช้งานครับ

ผมเลยมีความคิดว่า ถ้าได้มีโอกาสผันตัวมาเป็นสื่อแปลข่าวหรือสื่อเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าก็อยากจะสัมภาษณ์ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อเก็บเอาไว้เป็นฐานข้อมูล(Database) ให้คนที่วางแผนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ดูกันนะครับ

ความชอบส่วนตัวของผมในการอ่านกระทู้รีวิวการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ใช้งานจริง เนื่องจากเค้าสามารถบอกข้อดีและข้อเสียของการใช้งานได้หมดจดกว่ากูรูรีวิวรถยนต์ท่านไหนบนโลกซะอีกครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ต่อให้รายการ Top Gear รีวิวรถยนต์ว่าดีแค่ไหน เอากูรูที่มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ระดับโลกมาพูดก็ตาม

แต่ตอนเราซื้อมาใช้จริง มันอาจจะไม่ดีอย่างที่รายการทีวีระดับโลกอย่าง Top Gear พูดเอาไว้ก็ได้ เพราะว่ากูรูรีวิวรถยนต์นั้น เค้าอยู่กับรถยนต์อย่างมากสุดก็แค่ 5 วัน(ยืมมาขับ , ยืมมาถ่ายรูป) แต่หลังจากนั้น ผู้ใช้งานที่ซื้อไปอาจจะไปเจอปัญหาต่างๆ ที่กูรูไม่ได้บอกเอาไว้ก็เป็นได้ครับ

ฝรั่งที่วางแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้านั้น เค้าชอบดูการรีวิวแบบใช้งานจริง แบบว่าใช้งานไปแล้ว 10,000 km หรือ 100,000 km แล้วมีอะไรพังบ้าง เพราะเค้าวางแผนซื้อรถยนต์มาใช้ระยะยาวเหมือนพวกเรานี่แหละครับ ไม่ใช่วางแผนซื้อรถยนต์มาใช้เพียง 5 วันครับ ถ้าวางแผนแบบนั้นก็ไม่ต้องดูรีวิวอะไรหรอกครับ ได้รถมาก็ขับๆ ไปเถอะ พอครบ 5 วันก็ไปถอยคันใหม่ก็ได้เนอะ ^^

ในความเห็นส่วนตัวของผมคือ ถ้าผมดูรีวิวรถยนต์ไฟฟ้าคันไหนแล้วติดใจ จะพยายามไปหากระทู้หรือวิดีโอรีวิวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนั้นเพิ่มเติมเพื่อศึกษาก่อนซื้อมาใช้จริงครับ เพราะรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ ไม่ได้เหมือนรถ ICE ที่อยู่มาเป็น 100 ปีแล้วครับ ดังนั้นความน่าเชื่อถือมันต่างกันอยู่มากครับ แต่ผมก็เชื่อว่าการสร้างกระทู้รีวิวรถยนต์ไฟฟ้าแบบนี้จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่วงการรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากยิ่งขึ้นนะครับ

ส่วนกระทู้นี่เป็นกระทู้สัมภาษณ์ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะคันที่ 12 ของ Blink Drive แล้วนะครับ ที่ผ่านมานั้นผมจะสัมภาษณ์ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ทั้งนั้นเลย เคยมีสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน MG ZS EV เพียงคนเดียวคือ คุณดลจากช่อง Youtube Channel Captain DIY

จากนั้นมา ผมก็ไม่เคยได้รีวิวรถยี่ห้ออื่น ๆ นอกจากเทสล่าอีกเลย มาวันนี้ถือว่าเป็นฤกธิ์งามยามดีในช่วงต้นปีที่ได้สัมภาษณ์สมาชิกเพจ Blink Drive นะครับ

เอาล่ะครับก่อน ก่อนไปอ่านบทสัมภาษณ์รีวิวรถยนต์ไฟฟ้า Kia Soul EV คันนี้ ผมอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับสเปคและความเป็นมาเล็กน้อยนะครับ

Kia Soul EV 2020

รถยนต์ไฟฟ้า Kia Soul EV ของคุณท๊อปคันนี้เป็นรุ่น(Generation)ที่ 3 ของรถยนต์ไฟฟ้า SOUL EV นะครับ

โดยรุ่นแรกนั้นให้แบตมาเพียง 30 kWh (2016-2017) ถัดมาคือรุ่นที่ 2 ในปี 2018-2019 ให้แบตมาเพียง 31.8 kWh ส่วนรุ่นถัดมาคือรุ่นที่ 3 ให้แบตมามากถึง 64 kWh ซึ่งสองรุ่นแรกมีระบบระบายความร้อนของแบตเป็นพัดลมนะครับ ส่วนรุ่นที่ 3 จะเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับ Hyundai Kona EV คือ liquid gel ครับ ซึ่งระบบนี้จะถอดแบบมาจาก Tesla อีกทีครับ

การระบบความร้อนด้วย liquid cooling นั้นทำให้แบตเสื่อมช้ากว่าแบบพัดลมเป่าแบตหลายสิบเท่าครับ

ถ้านึกไม่ออกก็ให้ดูระบบระบายความร้อนคอมพิวเตอร์แบบพัดลมทั่วไปกับระบบน้ำนะครับ การใช้ระบบน้ำนั้นได้ข้อดีคือความร้อนจะถุกส่งออกจากตัวแบตแบบก้อนต่อก้อน ไปยังหม้อ compressor ของรถ ซึ่งการระบบความร้อนแบตรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะใช้ท่อส่งความร้อนเพื่อระบายความร้อนออกไปที่ compressor รถซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับแอร์รถครับ แต่ถ้าเป็นระบบพัดลมคือพึ่งพาอุณหภูมิภายนอกรถเป็นส่วนใหญ่ครับ ถ้าอากาศหนาวก็โชคดีไป แต่ถ้าอากาศร้อนๆ แบบไทยก็รอวันแบตเสื่อมได้เลยครับ

มันถือเป็นสิ่งที่คนไทยชอบล้อกันว่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ระวังแบตเสื่อมน่ะ จริงๆ พวกเค้าอาจจะไม่รู้ว่าระบบระบายความร้อนของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันเหนือกว่า hybrid เป็น 20 ปีแล้วครับ ^^

ปล. แบตรถยนต์ Hybrid ทุกรุ่นใช้ระบบระบายความร้อนแบบธรรมชาติคือเอาพัดลมเป่า ถ้าอากาศภายนอกยิ่งร้อนหรืออากาศในห้องโดยสารไม่เย็นพอ ก็รอวันแบตเสื่อมได้เลยครับ

ส่วนข้อมูลการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Kia Soul EV รุ่นที่ 3 ที่แตกต่างจากรุ่นที่ 2 นั้นผมทิ้งภาพเอาไว้ด้านล่างนี้นะครับ จริงๆ ผมมองว่าเป็นการพัฒนา(ภาพด้านล่าง)แบบไม่ค่อยก้าวกระโดดเท่าไหร่จากรุ่นที่สองครับ สิ่งที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดจริงๆคือระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่ครับซึ่งเป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น

ที่มา : evspecifications

สเปค Kia Soul EV

ในประเทศไทยตอนนี้นั้น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทแล้วมีระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่มาให้ด้วยก็จะมี MG ZS EV, MG EP EV เป็นต้นครับ

Kia Soul EV – 2 ล้านบาท

คุณท๊อปได้แจ้งว่า ราคาเต็มของรถ Kia Soul EV ปี 2020 คันนี้อยู่ที่ 2.3 ล้านบาทแต่เค้าได้รับส่วนลดพิเศษถึง 300,000 บาททำให้รถคันนี้มีราคาอยู่ที่ 2 ล้านบาทครับ

โดยรถรุ่นนี้ในต่างประเทศจะเป็น e-soul โฉมปี 2019 ในไทยนั้นเป็น Kia Soul EV ปี 2020 ครับ

คุณท๊อปได้ออกรถ Kia Soul EV ณ วันที่ 31กค 2020 ณ ปัจจุบัน วิ่งไปแล้วถึง 17,000 km เกือบ 18,000 km ครับ ( ณ วันที่สัมภาษณ์คือวันที่ 23 มกราคม 2564 ซึ่งก็ผ่านไปแล้วเกือบ 6 เดือนครับ) เค้าบอกว่า ถ้าไม่ติดว่ามีโควิค รถคันนี้น่าจะวิ่งเกิน 25,000 km ไปแล้วครับ(ใช้รถโหดจริงๆครับ 6 เดือนก็ 17,000 km แล้ว)

ปัญหาการใช้งาน?

ผมให้ความสำคัญกับคำถามนี้มากๆครับ ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือคนไทยเกี่ยวกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าผมจะพุ่งประเด็นสำคัญไปยังปัญหาหลังจากที่ซื้อมาครับ

คุณท๊อปแจ้งว่า ตั้งแต่ซื้อมาขับได้ 6 เดือนกับ 17,000 km ยังไม่เคยได้ซ่อมบำรุงใดๆ ทั้งสิ้น แถมตอนเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเชคสภาพตามระยะ(10,000km) ทางเจ้าหน้าที่ก็แค่เอา OBD box เสียบเฉยๆ แล้วก็ขับออกมาเลย เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ไม่ได้เปลี่ยนของเหลวอะไรในรถทั้งนั้นครับ

หมายเหตุ : ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ ในนามของ KIA Thailand รับประกันตัวรถ Warranty 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร

แต่สิ่งที่คุณท๊อปปวดใจลึกๆ คือ แต่งเครื่องเสียงไม่ได้ครับ ฮ่าๆ เรื่องของเรื่องคือว่าแกกลัวว่าถ้าแต่งเครื่องเสียงใหม่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้แล้ว Range จะลดครับ (ระยะทางที่วิ่งได้สูงสุด)

ข้อเสียอีกข้อของรถยนต์ไฟฟ้าคือประกันแพงครับ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้นมีราคาที่แพงหูฉีกอยู่แล้วครับ ทำให้บริษัทประกันเหมาประเภทรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ไปชนราคาประกัน BMW หรือ Benz ไปเลยครับ

โดยเจ้ารถ Kia Soul EV คันนี้มีค่าประกันชั้นหนึ่งต่อปีที่ 45,000 บาท คุณท๊อปได้บอกอีกว่า จริงๆ ก็เล็ง Tesla Model 3 เอาไว้น่ะ แต่ที่ต้องเปลี่ยนใจมาซื้อคันนี้แทนเพราะค่าประกันของ Tesla แพงกว่า Kia เท่าตัวครับ

โดยบริษัทประกันได้ quote (แจ้ง)ค่าประกันของ Tesla Model 3 เอาไว้ที่ 90,000 – 104,000 บาทต่อปี เค้าบอกว่าส่วนต่างนี่เอาไปซื้อมือถือ iphone ได้ 1 เครื่องเลยนะ ถ้าเป็นคนที่เล่นหูฟังดีๆ ก็ซื้อหูฟังได้ปีล่ะ 1 อันเช่นกันครับ

ทำไมต้อง Kia Soul EV?

เป็นคำถามที่ผมและทุกท่านอยากทราบคำตอบกันอย่างแน่นอนครับ เพราะถ้าเรามีทุนแถวๆ 2-3 ล้านบาทแล้ว คนไทยหลายคนจะกระเถิบไปเล่น Tesla ทั้งนั้นครับ

ตอนแรก จะไปทาง Tesla Model 3 ครับ แต่รับค่าประกันภัยไม่ไหวจริงๆ เลยอกหัก จากนั้นผมก็ไปดู Hyundai Kona EV แต่ก็ไม่ชอบกระจังหน้า ดูแปลกๆ

ตอนแรก ผมก็ไม่ได้ถูกใจ Kia Soul EV หรอกครับ เพราะที่ชาร์จที่ให้มา มันเป็น type1 แต่พอเจอส่วนลด 3แสน เอาก็เอา ฮ้าาาๆๆๆๆ

ความชอบเรื่องรถส่วนตัวของผมนั้นไม่เหมือนคนอื่นนะครับ ผมไม่ค่อยติดเรื่องยี่ห้อ ไม่ติด ออฟชั่น ขอชาร์จ 100% วิ่งได้เกิน 450 km ก็พอแล้วครับ

คุณท๊อป
รูป : หัวชาร์จ type 1 vs type 2
รูปภาพ : Hyundai Kona EV กระจังหน้าจะทึบๆไปเลย

หมายเหตุ : นี่เป็นความชอบส่วนบุคคลน่ะครับ ซึ่งผมมองว่า รถยนต์ไฟฟ้าทุกคันนั้นสวยและใช้งานได้สมบุกสมบันกว่ารถยนต์น้ำมันอยุ่แล้วครับ

ส่วนข้อดีรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่จำเป็นต้องพูดเยอะครับ คุณท๊อปบอกสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า

เงียบ นิ่ง นุ่ม พุ่ง ไหลและประหยัด(มากๆ)

คุณท๊อป

ชาร์จครั้งนึงวิ่งได้ 457 km, จริงหรอ?

ถ้าเอาจริงๆ ชาร์จ 1 ครั้งก็วิ่งเกิน 457 km นะครับ เพราะถ้าเอาระยะทางที่ใช้ไปมาบวกกับ ระยะทางเหลือ ได้เกินที่คำนวณทุกครั้งครับ

เส้นทางที่ผมใช้วิ่งเป็นหลักคือ highway (ถนนไฮเวย์)หรือก็คือถนนต่างจังหวัดครับ รถไม่ติดเลย

โดยปกติผมจะ lock ความเร็วเอาไว้ที่ 100 km/h ต่อให้ถนนโล่งก็วิ่งแค่นั้นเพื่อความปลอดภัยแก่ผมและผู้ร่วมเดินทางบนท้องถนนครับ

แต่ถ้าเข้าเขตเมือง ผมก็วิ่งแถวๆ 40-70 km/h ครับ

คุณท๊อป

อ้างอิงข้อมูลลักษณะนิสัยการใช้งานรถและแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 64 kWh ผมก็เชื่อคุณท๊อปครับว่าเป็นไปได้จริงๆ ถ้าตั้งให้วิ่งประมาณ 80-90 km/h ผมคาดว่าน่าจะแตะ 500 km ต่อการชาร์จ 1 ครั้งไม่ยากครับ

ชาร์จไฟยังไงบ้าง?

ส่วนใหญ่คุณท๊อปจะชาร์จที่บ้านเป็นหลักครับ เคยชาร์จนอกบ้านแค่ตอนเทสสายชาร์จที่ซื้อมาครับ

รูปภาพ : สาย adapter (หัวแปลง) ซื้อจาก aliexpress
รูปภาพ : ตอนทดสอบชาร์จ DC Charging ที่ PEA อยุธยา
รูปภาพ : การใช้งานมือถือเชื่อมต่อ OBD Box ของรถระหว่างชาร์จเร็ว (DC Fast Charging)

เรียกได้ว่า คุณท๊อปเคยใช้งาน DC fast Charging เพียงแค่ครั้งเดียวตั้งแต่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มาเลยครับ เพราะปกติจะชาร์จที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ครับ

ยังไงผมขอรวบรัดข้อมูลการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าของคุณท๊อปทั้งหมดในหัวข้อนี้เลยนะครับ

  1. ติดตั้งที่ชาร์จ

คุณท๊อปบอกผมว่าตอนได้รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มาไม่ได้เปลี่ยนมิเตอร์ที่บ้านเลยเพราะที่บ้านใช้มิเตอร์ 3 เฟสอยู่แล้ว ส่วน wall charger(ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า)นั้นได้มาฟรีเป็นยี่ห้อ eo ครับ ให้กำลังไฟที่ 7.2 kW

2. ค่าไฟในการชาร์จ

การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของคุณท๊อปในแต่ล่ะเดือนค่อนข้างแตกต่างกันครับ โดยเค้าได้ส่งบิลค่าไฟก่อนที่จะใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาด้านล่างนี้

รูปภาพ : บิลค่าไฟก่อนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้

หลังจากซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามา ณ วันที่ 31 เดือนกรกฎาคม 2563 , ให้นับค่าไฟจากเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไปนะครับ

เราจะเริ่มเห็นตัวเลขขยับขึ้นมาประมาณ 1,000 – 2,000 บาทในแต่ล่ะเดือนนะครับ โดยคุณท๊อปบอกกับผมว่าช่วงเดือนกันยายนเป็นเดือนที่เค้าใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหนักมากๆ (ใช้งานวันล่ะ 100-120 km) ซึ่งก็ไม่แปลกที่ค่าไฟจะพุ่งสูงแบบนั้นครับ

ใช้ App อะไรดูค่าต่างๆ ในรถ?

อันนี้ถือว่าเป็นของเล่นติดรถที่คนใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าควรจะมีนะครับ

คุณท๊อปได้ซื้อ OBD Box จาก Lazada นะครับ โดนใช้ app : Car Scanner ELM OBD2 ในการเชื่อมต่อกับมือถือครับ ส่วน Interface ก็จะมีหน้าตาอย่างด้านล่างนี้เลยนะครับ

รูปภาพที่ทุกท่านเห็นด้านล่างนี้จะเป็นรูปภาพแสดงผลค่าต่างๆ จากรถนะครับ อย่างเช่น SoH (State of Health) ของแบตนั้นอยู่ 100 % ทั้งๆ ที่วิ่งรถมาแล้ว 17,508 km ครับ

โดยผมได้ยิงคำถามเรื่องแบตเสื่อมไปทางคุณท๊อปด้วยแกเลยส่งรูป OBD scanner เข้ามาให้ดูนะครับ

โดยรวมคือ ใช้งานมา 17,508 km สภาพแบต(Battery Health)ยังคงอยู่ที่ 100% หรือยังไม่เสื่อมเลยซัก % ครับ

อีกอันที่อยากให้ดูคือ battery Module 01 Temperature ซึ่งอยุ่ที่ 26 องศาเท่านั้นเอง โดยอุณหภูมิแทบไม่ต่างจากภายนอกรถ(outside temperature) ที่ 27 องศาเลยนะครับ

เอาล่ะครับ หลังจากรีวิวรถยนต์ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ผมอยากจะสอบถามเรื่องราวความเป็นมาก่อนจะมาซื้อรถคันนี้กับคุณท๊อปซักหน่อยแหละครับ

ก่อนซื้อ Soul EV ขับอะไรมาก่อน?

ผมขับรถยนต์อยู่ 2 คันหลักๆ นะครับคือ อัลพาท ah20 กับ ไดฮัสสุ ไฮเจ็ท ครับ

ตอนนี้ ขาย ไดฮัสสุทิ้งแล้ว อยากขายอัลพาทมิ้งด้วยแต่ที่บ้านรักเลยไม่ขาย

ก่อนหน้าที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ผมทำการบ้าน(ศึกษารถยนต์ไฟฟ้า)หนักอยู่ คนรอบตัวมีแต่บอกเราว่าซื้อมาทำไม? ที่ชาร์จนอกบ้านก็ไม่มี ใช้เวลาชาร์จก็นาน

พอดีผมอาจจะดื้อด้วย เลยเริ่มจากการทดลองขับ ไดฮัสสุ (รถตู้ เคคาร์) อะคับ แบบเติมเต็มถังแล้วลองขับดู ว่าใช้ชีวิตประจำวันดูว่า 1 ถังไปถึงไหนได้บ้าง เที่ยวไหน ไปกลับเหลือเท่าไร โดยรถตู้ไดฮัสสุของผมนั้นวิ่งได้ประมาณ 300 – 400 km ต่อการเติมน้ำมัน 1 ถังครับ แต่ Top Speed ของรถตู้คันนี้อยู่ที่ 90 km/h เพราะเครื่องยนต์มีขนาดเล็ก(660cc) เท่านั้นเอง ทั้งหมดที่ทำไปนี้ เพื่อเป็นการทดสอบก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานถ้าใช้งานระยะทางจำกัดจริงๆ จะใช้งานได้ไหมครับ

คุณท๊อป

นี่คือ รถที่ผมขายทิ้ง รักก็รัก แต่ไม่ได้ใช้จอดรอวันพัง เลยขายดีกว่าครับ

คุณท๊อป

หลังจากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า, ความรู้สึกต่างกันเยอะไหม?

ต่างกันเยอะสิครับ ตอนนี้ ผมกลับไปขับ อัพพาท ah20 ไม่ได้แล้ว รถอะไรเสียงก็ดัง สั่นก็แรง ฮ่าๆ ข้อดี รถยนต์ไฟฟ้า คือ เงียบ นิ่ง นุ่ม พุ่ง ไหล

คุณท๊อป

อย่างค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นลดลงไปเยอะเลยครับ คุณท๊อปชี้แจงอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานออกมาดังนี้ครับ

ถ้าเทียบกันแล้วการใช้งานรถยนต์น้ำมัน Daihatsu นั้นแพงกว่าประมาณ 3 เท่าตัวครับ

คิดว่าถ้ามีโอกาสซื้อรถคันใหม่จะซื้อรถอะไร?

คันต่อไป ยังไงก็ ev แน่นอน~~~

ตอนนี้เล็ง model 3 ไม่ก็ model y (7 ที่นั่ง)ล่ะคับ แต่ถ้า nissan ariya กับ hyundai ioniq 5 เข้าไทย ผมอาจจะเปลี่ยนใจไปรถเหล่านั้นก็ได้ เท่าที่ดูไว้ ตอนนี้มีเพียง 4 คันนี้เท่านั้นครับ

คุณท๊อป

BLINK DRIVE TAKE

จุดประสงค์ในการเขียนกระทู้รีวิวรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ใช้งานจริงนั้น คือ ต้องการให้ผู้ใช้งานจริงเป็นกระบอกเสียงส่งไปยังคนที่ยังไม่กล้าก้าวข้าม comfort zone เพื่อมาเล่นรถยนต์ไฟฟ้าแหละครับ

มันเหมือนช่วงเปลี่ยนถ่ายยุคแรกๆ จากมือถือโนเกียเป็น android หรือ iphone ที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ รอบตัวเราบอกว่า อย่าไปเลย อยู่ดีไม่ว่าดีไปซื้อ smart phone ทีมีแบตอยู่ได้ไม่ถึงวัน จ้างให้ก็ไม่ซื้อหรอก

คุณท๊อปก็ผ่าฟันอุปสรรคนั้นมาเช่นกันครับ อย่างที่เค้ายกตัวอย่างมาคือ คนรอบตัวไม่มีใครใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเลย เวลาไปขอคำปรึกษาการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็จะได้แบบว่า “ซื้อมาทำไม? ที่ชาร์จนอกบ้านก็ไม่มี ใช้เวลาชาร์จก็นาน” ก็เพราะพวกเค้าไม่เคยใช้เลยส่ง “ความหวังดี” มาให้เรา กลัวเราลำบากนู่นนี่นั่น

อารมณ์เหมือนพวกเราไปปรึกษาถามหาวิธีไปเรียนต่ออเมริกาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว(ปี 2011)กับคนที่ไม่เคยออกไปต่างประเทศซักครั้งในชีวิตแหละครับ บางคนอาจจะสนับสนุน แต่เชื่อว่าหลายคนก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่าไปเลย ไปแล้วจะอยู่กับใคร? ไปแล้วลำบากน่ะ ไม่มีคนช่วยเหลือจะทำยังไง อะไรประมาณนี้ครับ

ตอนนี้คงไม่ได้เป็นแบบนั้นเพราะแต่ล่ะบ้านก็อยากส่งลูกไปเรียนอเมริกาและคนไทยจบอเมริกาก็มีเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ถ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้วคงไม่ใช่เหตุการณ์แบบนี้แน่นอนครับ รับรองว่ามีแรงต้านมหาศาลแน่นอน

รถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกันครับ ณ ปัจจุบันนั้นรถยนตืไฟฟ้าในไทยมียอดขายเพียง 0.15 % ของยอดขายทั้งประเทศในปี 2020 เรียกได้ว่า มีรถยนต์น้ำมันอยู่ 10,000 คันเพิ่งจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 15 คันเท่านั้นเอง แล้วลองคิดดูสิครับว่าจะมีแรงต้านมากแค่ไหน

ผมคิดว่าหลังจากปีนี้ไป การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดอีกแล้ว เพราะพวกผม(คุณท๊อป(Kia soul EV), คุณดล(MG ZS EV), คุณโต๋(Model 3), คุณไช้(model 3), พี่แถม(Model 3), คุณเอ(Model X)และผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้ทำการปูทางให้พวกคุณเอาไว้หมดแล้วครับ

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Exit mobile version