Blink Blink
News

ทำไมนิวยอร์คถึงเปลี่ยนใจมาใช้รถเก็บขยะ(พลังงานไฟฟ้า)?

ก่อนอื่นเลย ข่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019 ผ่านเว็บ caronline.net แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงข่าวประกาศเฉยๆ ว่า นิวยอร์คกำลังพยายามนำรถเก็บขยะ(พลังงานไฟฟ้า)มาใช้งาน ซึ่งในมุมมองของ Blink Drive ในตอนนั้น รถเก็บขยะคันนั้นคือ concept car (แปลว่า รถที่สร้างออกมาเอาฮา ไม่ได้ต้องการขายเพื่อทำกำไร)

แต่มาปีนี้ ณ วันที่ 12 มกราคม 2020 เป็นวันที่หน่วยงานเก็บขยะของเมืองนิวยอร์คมาตัดริบบิ้นเปิดงานและเริ่มการใช้งานกันอย่างจริงจังแล้วครับ ตอนนี้รถคันนั้นในปี 2019 ได้กลายร่างเป็น Production Car [แปล – รถที่ผลิตออกมาเพื่อขายและใช้งานจริงบนท้องถนนแล้วครับ]

รูปภาพ : รองผู้บัญชาการหน่วย DSNY คุณ Rocky DiRico ทำการรับรถบรรทุกขยะพลังงานไฟฟ้าจากค่ายรถ MACK
Photo: John Hitch/Fleet Owner

เอาละ เรามาดูกันดีกว่าว่า เค้าวางแผนจะใช้งานแบบไหน, กี่คัน, และแนวทางการบริหารเมืองของเค้านั้นเป็นยังไง แต่ก่อนอื่นเลย ผมจะพาทุกคนไปรู้จักหน่วยงาน DSNY กันก่อนนะครับ

DSNY- หน่วยงานสุขาภิบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

DSNY ย่อมาจาก New York City Department of Sanitation โดยหน่วยงาน DSNY นี้ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นหน่วยงานสุขาภิบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีบุคลากรต่างๆ ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลในเครื่องแบบ 7,201 คน
  2. เจ้าหน้าที่พลเรือน 2,041 คน
  3. รถเก็บขยะทั่วไป 2,236 คัน
  4. รถเก็บขยะเฉพาะทาง 275 คัน
  5. รถกวาดพื้น 450 คัน
  6. รถกวาดหิมะ 365 คัน
  7. รถตักเทหน้า( front end loaders ) 298 คัน
  8. รถยนต์ช่วยเหลือทางด้านเทคนิคต่างๆ 2,360 คัน

โดยหน่วยงานนี้สามารถรับมือกับขยะ(ทั้งแบบรีไซเคิลและเน่าเสีย)ในเมืองนิวยอร์คมากถึง 12,000 ตันต่อวัน

ที่มา : wikipedia

รูปภาพ รถบรรทุกต่างๆ ในหน่วยงาน DSNY

เรียกได้ว่า หน่วยงานเก็บขยะของนิวยอร์คนั้นยิ่งใหญ่และทุกคนที่เข้ามาทำงานนั้นต้องเรียนหลักสูตรของสุขาภิบาลด้วยไม่งั้นไม่สามารถทำงานนี้ได้ ถือว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติมากๆ อาชีพหนึ่งในประเทศอเมริกาไปเลยครับ

รูปภาพ : วันสำเร็จการศึกษาของนักศึกษา DSNY , เตรียมตัวบรรจุเข้าทำงาน

ทำไมรถเก็บขยะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า?

อ้างอิงจากข้อมูลด้านบนนะครับ รถเก็บขยะในเมืองนิวยอร์คแค่เมืองเดียวนั้นมีถึง 2,236 คัน แต่ล่ะคันจะวิ่งเก็บขยะราว 50 กม. ในแต่ละวัน และต้องทำงานในลักษณะของการหยุดเก็บขยะ และวิ่งออกไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น เค้าจึงต้องหารถประเภทอื่นมาทดแทน

ดูจากเส้นทางด้านบนแล้ว (50 km ต่อวัน) ถือว่า เป็นเส้นทางที่สั้นมากๆ แต่ทว่า วันนึงนั้นรถเหล่านี้จะต้องอยู่บนท้องถนนประมาณ 6-8 ชั่วโมงและไม่ได้ดับเครื่องเลยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เพราะรถนั้นต้องใช้ระบบไฮดรอลิคสำหรับการอัดขยะและการยกดั้มพ์ด้านหลัง ลำพังจะเอาแบต 12 volts ที่ติดมากับรถทำงานเหล่านี้ก็เกรงจะไม่ไหว ดังนั้นเวลาอัดขยะเหล่านี้ รถก็ต้องสตาร์ทเครื่องทิ้งเอาไว้นะครับซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดควันไอเสียรังควานคนหรือรถที่สัญจรไป-มาบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก

การใช้งานระยะทางสั้นๆ แบบนี้นั้น ระบบพลังงานไฟฟ้าจะได้เปรียบกว่ามากๆ เพราะรถยนต์ไฟฟ้านั้นมี range ประมาณ 300-400 km ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และเวลาจอดเฉยๆ ก็ไม่ได้ปล่อยไอเสียอะไรบริเวณนั้น แถมตอนอัดขยะก็ยังดึงไฟโดยตรงจากแบตเตอร์รี่รถแทนที่จะใช้วิธีปั่นไฟจากเครื่องยนต์ดีเซลซะอีก แถมอีกเรื่องคือเรื่องการบำรุงรักษา เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดนั้นทำงานเหมือนกัน ทำให้มีอะไหล่น้อยกว่ารถยนต์น้ำมันมากๆ (รถยนต์ไฟฟ้ามีอะไหล่เพียง 80 ชิ้นเท่านั้น แต่รถยนต์น้ำมันมีถึง 3,000 ชิ้น) ก็คิดดูกันเอาเองแหละครับว่า ถ้าคุณเป็นผู้บริหารที่อยากลดค่าใช้จ่ายบริษัทแล้ว อยากสร้าง CSR [ Corporate Social Responsibility คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร] แล้วล่ะก็ การหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์น้ำมันดีเซลก็เหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัวเลยทีเดียว

ภาพ : การวางระบบมอเตอร์และแบตภายในตัวรถ

รถเก็บขยะยี่ห้ออะไรนะ?

รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าคันนี้ยี่ห้อ Mack รุ่น LR Electric ครับ

ณ ปัจจุบันนั้น ค่าย แม็ค Mack ผู้ผลิตรถบรรทุก ซึ่งรวมทั้งบรรดารถโดยสารที่วิ่งในเมืองนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงาน DSNY มาอย่างช้านาน โดย 99 % ของรถบรรทุกทุกชนิดในหน่วยงาน DSNY นั้นยี่ห้อ Mack หมดเลยครับ

รูปภาพ : สัญลักษณ์ของบริษัท Mack คือ สุนัขสายพันธ์บูลด็อก ซึ่งสุนัขตัวนี้จะเข้าไปอยู่หน้ารถเก็บขยะไฟฟ้าอีกด้วย
Photo: John Hitch/Fleet Owner

รถเก็บขยะไฟฟ้า Mack LR Electric นั้นจะเป็นทัพหน้าที่โชว์ประสิทธิภาพของบริษัทเราไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เกียร์รถบรรทุกไฟฟ้า, ความเงียบในการทำงาน, ไร้มลพิษทางอากาศ, และฟังชั่นการเก็บขยะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งพวกเราสร้างรถคันนี้มาให้แข็งแกร่งเพื่อพร้อมรับมือกับสิ่งแวดล้อมอันโหดร้าย(หนาวจัด, ร้อนจัด)และการจอดรถแบบถี่

Jonathan Randall, ผู้บริหารสูงสุด( senior vice president ) สาขา อเมริกาเหนือ
คลิป : Jonathan Randall ให้สัมภาษณ์ระหว่างส่งมอบรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า

หมายเหตุ : รถเก็บขยะนั้นต้องแวะจอดบ่อยมากๆ ซึ่งระหว่างการใช้งานรถยนต์น้ำมันนั้น พบเจอปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์มากมายหลายอย่าง (เช่น คลัช, เกียร์, และผ้าเบรค เป็นต้น) เพราะรถยนต์มันไม่ได้ออกแบบมาให้แวะจอดวันล่ะ 100 ครั้งนะครับ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทำได้ชิวๆ ออกตัวก็มอเตอร์ซึ่งแรงบิดมาถึง 4,051 ฟุตปอนด์ ตั้งแต่ 0 รอบอยู่แล้ว ส่วนพวกรถยนต์น้ำมันนั้น ต้องเร่งเครื่องเพื่อจะออกตัวเพราะกว่าแรงบิดจะมากก็ปาไป 2-3 พันรอบครับ

สเปครถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า Mack LR Electric

  • ขับเคลื่อน 4 ล้อ( มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว วางหน้าและหลัง)
  • ระบบขับเคลื่อน : มอเตอร์AC ขนาด 130 kW จำนวน 2 ตัว
  • เกียร์ : 2 สปีด
  • ความแรง 496 แรงม้า
  • แรงบิด 4,051 ฟุตปอนด์
  • แบตเตอรี่ ลิเธียม-แมงกานีส โคบอลท์( NMC lithium-ion batteries (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) ขนาด 600 โวลต์  (120 kWh)
  • ระบบชาร์จไฟ DC ความเร็วสูงสุดที่ 150 kW
  • น้ำหนักรถ(รวมแบต) : 72,000 ปอนด์ หรือ 32,658 กิโลกรัม
ภาพ : ภายในรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า
รูปภาพ : เกียร์ + มอเตอร์ AC ขนาด 130 kW
Photo: John Hitch/Fleet Owner
รูปภาพ : เกียร์ + มอเตอร์ AC ขนาด 130 kW
Photo: John Hitch/Fleet Owner

นอกจากนั้น รถบรรทุกนี้ ยังมีระบบไฟฟ้า 12 โวลต์ เพื่อการใช้งานแสงสว่าง, อุปกรณ์เพิ่มเติม และระบบเครื่องเสียง อื่นๆ และระบบไฟฟ้าขนาด 24 โวลต์ เพิ่มอีกหนึ่งชุด เพื่อการใช้งานของระบบไฮดรอลิค สำหรับการอัดขยะ และการยกดั้มพ์ด้านหลัง ซึ่งจำเป็นต้องใช้งานในระหว่างการเก็บขยะในแต่ละจุด ตลอดเส้นทางของการเก็บขยะ 

หลังจากเสร็จสิ้นการทำงานแต่ละวัน แม็ค ใช้การเชื่อมต่อเพื่อการชาร์จ ด้วยระบบชาร์จด่วน ดีซี ขนาด 150 กิโลวัตต์ ในเวลาทั้งคืน

คลิป : mack electric LR

ที่มา : caronline

BLINK DRIVE TAKE

หลังจากอ่านเรื่องราวด้านบนไปแล้ว ผมขอสรุปสาเหตุที่เค้าเลือกรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานแทนรถเก็บขยะดีเซลนะครับ

  1. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิง : แบต 120 kWh นั้นเสียค่าไฟประมาณ 120 หน่วยหรือเทียบเท่า 480 บาท
  2. ประหยัดค่าซ่อมบำรุง : รถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือบำรุงทุกๆ 10,000 km (บางคันวิ่งไป 100,000 km แล้วยังไม่เคยเข้าศูนย์เลย อ้างอิง รีวิวรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 100,000 km!!! )
  3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : รถเก็บขยะนั้นต้องวิ่งทั้งวันและคืน (การเอาควันผิดพ่นไปรอบเกาะแมนแฮ๊ตตันตั้ง 2,306 คันต่อวันแบบนี้ ก็เท่ากับฆ่าประชาชนทางอ้อมแหละครับ) ดังนั้นเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยควันเสียแบบนี้ ประชาชนจะกลับมารักรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น
  4. แรง & เร็ว : มอเตอร์ 130 kW ตั้ง 2 ตัว คิดว่า หลังเลิกงานแล้วสามารถเอารถเก็บขยะคันนี้ไปลงสนาม Drag ต่อได้เลย เพราะความแรงประมาณ 496 แรงม้านั้น สามารถตบพวกรถ eco car ในสนาม drag สบายๆ ครับ

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Follow by Email