Blink Blink
Latest news
EV CarsMG

ทำไมแบตเตอร์รี่ MG ZS EV ถึงเสื่อมยาก?

ก่อนอื่นเลย ผมต้องขอบอกว่า ผมไม่ได้รับเงิน MG มาเขียนบทความนี้นะครับ บทความนี้ได้ถูกแปลมาจากเว็บไซต์ yahoo ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากฝั่ง MG สาขาประเทศอังกฤษ

ดูหัวข้อของบทความแล้วอาจจะเวอร์ๆ ไปนิดนะครับ แต่ยังไงเดี๋ยวผมจะค่อยๆ อธิบายให้เข้าใจนะครับ

เรื่องแบตเตอร์รี่นั้น ผมอยากจะบอกว่า แบตรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถรับประกันได้นานเพราะว่า ยังไม่มีรถคันไหนมีระบบ liquid cooling หรือระบบระบายความร้อนของแบตหรือเพิ่มความร้อนให้แก่แบต(สำหรับประเทศที่มีอากาศหนาวจัด)

จริงๆ แล้วก็มีรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นที่ทำออกมาแล้วมีระบบ liquid cooling กันแล้วนะครับ ผมจะเอารุ่นที่มีระบบนี้มากล่าวเอาไว้นะครับ เช่น

  • Tesla Model S
  • Tesla Model X
  • Tesla Model Y
  • Tesla Model 3
  • Jaguar i-Pace
  • Chevrolet Bolt
  • Chverolet Volt
  • MG ZS EV
  • Hyundai Kona EV
  • BMW i3
  • BMW i8

หมายเหตุ : รถยนต์ไฟฟ้าหลังปี 2019 นั้นแทบจะแถมระบบนี้มาให้ทุกคันแหละครับ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ผมได้ใส่รุ่นที่มีระบบ liquid cooling เอาไว้แล้ว ถ้าคันไหนไม่มีอยู่ใน list นี้ก็สอบถามผมมาได้ใน blink drive facebook fan page นะครับ

รูป : หน้าตารังแบตของ MG ZS EV

ส่วนในไทยนั้น ผมได้ list รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบนี้เอาไว้ด้านบนแล้วนะครับ ยังไงก็พิจารณากันเองว่า รถคันไหนราคาเท่าไหร่ในท้องตลาดแล้วมีอะไรดีกว่ารุ่นไหนอย่างไรกันบ้าง

เอาละมาดูภายในแบตรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV กันดีกว่าว่าเค้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร

ตัวถังของแบตทำจากอลูมิเนียม อัลลอย

ตัวถังของแบตนั้นทำอลูมิเนียม อัลลอยทั้งหมดเพื่อลดน้ำหนักแต่คงความแข็งแรงเอาไว้

ระบบระบายความร้อนแบต

เรื่องนี้ขอเน้นหนักๆ และคุยกันยาวๆ หน่อยนะครับ เพราะเวลาพวกฝรั่งในอเมริกาหรือยุโรปจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่นั้น เค้าจะเชคกันก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มีระบบนี้ไหม ซึ่งพวกรถยนต์ไฟฟ้าก่อนปี 2018 นั้นไม่มีระบบนี้กันเลย(ยกเว้น Tesla) ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาดมันถึงออกมาได้ห่วยมากๆ เลยไงครับ

ระบบระบายความร้อนแบตนั้นเอามาเพื่อปรับอุณหภูมิแบตให้คงที่ ในกรณีที่ทำการชาร์จเร็ว(Rapid charge)ความร้อนจะเพิ่มขึ้นสูงมาก ลองคิดเล่นๆ ตอนคุณชาร์จมือถือผ่าน quick charge หรือชาร์จถ่านรถทามิย่าแบบ quick charge ดูครับ ตอนนั้น อุณหภูมิของแบตก็จะเพิ่มขึ้นแบบร้อนจี๋ไปเลย หรือในกรณีที่คุณขับในโซนร้อนจัด(มากกว่า 30 องศาเซลเซียส) ตัวแบตพอทำงานหนักก็จะเกิดความร้อนสะสม ซึ่งถ้าระบบระบายความร้อนทำงานไม่ดี(รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นเล่นเอาพัดลมเป่าแบตแทนการเดินท่อน้ำหรือเจลความเย็น-ร้อน)ก็จะทำให้แบตเสื่อมก่อนอายุการใช้จริงยังไงล่ะครับ

รูป : ระบบ TMS ของ Tesla ซึ่งใช้ Glycol (แผ่นเจล) ในการทำหน้าที่ระบบความร้อนหรือเพิ่มความร้อนให้แก่แบต

อีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องมีระบบ cooling liquid หรือจริงๆ เรียกอีกอย่างว่า TMS (Thermal management system) หรือระบบความคุมอุณหภูมิแบต คือ เวลาเอารถยนต์ไฟฟ้าไปใช้งานในแถบภูมิประเทศที่หนาวจัดอย่างฝั่งยุโรปที่เรียกได้ว่า หนาวติดลบ(-20 C ถึง -30 C) นั้น ระบบ TMS นี้ก็จะปล่อยความร้อนออกมาเพื่ออุ่นแบตให้อุณหภูมิมากกว่า 5 – 20 องศาเซลเซียสเอาไว้ เพราะแบต lithium-ion นั้นแพ้อากาศหนาวติดลบครับ รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สามารถนำไฟจากแบตมาใช้งานได้ถ้าแบตอยู่ในสภาวะต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส

รูป : แผนภูมิระบบ TMS ของรถยนต์ไฟฟ้า

ยังไงผมเอาตารางอุณหภูมิมาให้ดูกันว่า แบตแต่ล่ะประเภทนั้นควรจะใช้งานที่อุณหภูมิที่เท่าไหร่กันบ้าง

ประเภทแบตอุณหภูมิเหมาะสมในการชาร์จ อุณหภูมิเหมาะสมในการคายประจุ(ใช้งานคำแนะนำ(ในส่วนนี้ผมแปะเพียงภาษาอังกฤษให้อ่านนะครับ ถ้าแปลเดี๋ยวจะขอเป็นกระทู้หน้าครับ)
Lead acid
(แบตกรด)
–20°C to 50°C
(–4°F to 122°F)
–20°C to 50°C
(–4°F to 122°F)
Charge at 0.3C or lessbelow freezing.
Lower V-threshold by 3mV/°C when hot.
NiCd, NiMH
(แบต toyota hybrid ทุกรุ่น)
0°C to 45°C
(32°F to 113°F)
 
–20°C to 65°C
(–4°F to 149°F)
 
Charge at 0.1C between –18°C and 0°C.Charge at 0.3C between 0°C and 5°C.
Charge acceptance at 45°C is 70%. Charge acceptance at 60°C is 45%.
Li-ion
(แบตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป)
0°C to 45°C
(32°F to 113°F)
–20°C to 60°C
(–4°F to 140°F)
No charge permitted below freezing.
Good charge/discharge performance at higher temperature but shorter life.

ที่มา : battery university

ดังนั้นแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะใช้งานที่ไหนบนโลกควรจะติดตั้งระบบนี้มาด้วย ซึ่ง MG ZS EV และ hyundai Kona EV นั้นแถมมาให้ครับผม ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหรือน้ำมันที่มีแบตขนาดใหญ่ติดมากับรถแล้วไม่มีระบบนี้ก็อาจจะเสื่อมเร็วกว่าปกติครับ เพราะสาเหตุแรกที่จะทำให้แบตเสื่อมนั้นคืออุณหภูมิครับ ดังนั้นคุณจึงเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าก่อนปี 2018 นั้นพังกันไวมากๆ หรือบ่อยมากๆ ครับ

ด้านล่างนี้จะเป็นรูปรังแบต MG ZS EV ครับ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

  • Coolant Hoses – ท่อน้ำยา Coolant หรือท่อน้ำสำหรับระบายความร้อนของแบต
  • Cold Plate – แผ่นเหล็กเงาๆ นั้นคือแผ่นสำหรับระบบความร้อนแบตในเวลาที่ถูกใช้งานหนักๆ เช่น ชาร์จไฟเร็ว, เหยียบคันเร่งจม, หรือ เบรค Kiers เพื่อชาร์จไฟกลับไปยังแบต หรือแม้กระทั่งการใช้งานในสภาวะแวดล้อมร้อนจัดในประเทศไทยเป็นต้น
  • Thermal Pad – บอกได้เลยว่าประเทศไทยนั้นไม่มีทางได้ใช้ Thermal Pad แน่นอนเพราะอากาศในไทยนั้นไม่เคยต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส(ยกเว้นขึ้นไปนอนบนดอยอินทนนท์) ตัว Thermal Pad หรือแผ่นสีชมพูนี้จะเป็นแผ่นทำความร้อนให้แก่แบตในกรณีที่อากาศภายนอกรังแบตต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
รูปภาพ : ทดสอบระบบ cooling system โดยการเดินน้ำยา coolant เข้าไป

หมายเหตุ : การทำความเย็นแบต(Cooling)นั้นกินไฟน้อยกว่าการทำความร้อน(Heating)ให้แก่แบตนะครับ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่า ระบบนี้จะมาดึงไฟจนทำให้ Range(ระยะทางที่วิ่งได้) น้อยลงครับ

ส่วน Tesla นั้นมีระบบ TMS มาให้ตั้งแต่ Model S แล้ว และเราก็เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ส่วนใหญ่นั้นจะค่อยแกะแบตมาเปลี่ยน module ผมย้ำว่า module นะครับไม่ใช่เปลี่ยนยกแพ๊คตอนประมาณระยะทาง 500,000 km ครับ

แบตรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV มีกี่โมดูลล่ะ?

มีหลายคนมากมายในพันธ์ทิพย์และคนในเพจผมนั้นบอกผมมาว่า “แบตรถยนต์ไฟฟ้าแพงน่ะเว้ย เปลี่ยนทีนี่หมดตัวเลยนะ”

ผมก็เลยอยากใช้บทความนี้ทำความเข้าใจกับพี่ๆ ทุกท่านนะครับว่า แบตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นคันไหนบนโลกนั้นเค้าไม่ได้เปลี่ยนแบตทั้งแผงเวลาแบตมันเสื่อมครับ เค้าจะดึงโมดูลหรือก้อนที่มันเสื่อมออกมาแล้วนำแบตโมดูล(Module) ใหม่ใส่เข้าไปครับ

อย่าง MG ZS EV นั้นมีแบตเตอร์รี่ทั้งหมด 18 โมดูลครับ ดังนั้นถ้าคุณใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าไปมากกว่า 200,000 km แล้วต้องการเปลี่ยนแบตก็เพียงเปลี่ยนโมดูลที่มันเสื่อมครับ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุด

รูป : หน้าตาภายในแบตเตอร์รี่ MG ZS EV ซึ่งมองด้วยตาเปล่าก็เห็นว่าเป็นแบบ 3 x 6 = 18 โมดูลนะครับ
รูปภาพ : หน้าตาแบตเตอร์รี่โมดูลของ MG ZS EV

ส่วนราคาแบตเตอร์รี่ MG ZS EV นั้นยังไม่มีการเปิดเผยในไทยหรืออังกฤษครับ ทั้งนั้นทั้งนี้ ผมจะทำการส่งกระทู้นี้ไปให้ MG Thailand และสอบถามราคาโมดูลเหล่านี้แล้วครับ (รอเค้าตอบมาเนอะ)

เรียน MG Thailand หรือผู้เกี่ยวกับกับบริษัท MG ในประเทศไทยทุกท่าน : ถ้าคุณเข้ามาอ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว กรุณาติดต่อผมกลับไปที่ facebook : Blink Drive ด้วยครับ ผมไม่เพียงจะช่วยโฆษณารถยนต์ไฟฟ้าให้แก่บริษัทคุณ[ซึ่งทำมานานแล้ว] แต่ยังช่วยสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าของพวกคุณให้ฟรีๆ อีกด้วย ผมสร้างเพจและเว็บไซต์นี้ขึ้นมาด้วยใจครับ [เงินตัวเองทั้งนั้น] ไม่มีสปอนเซอร์ใดๆ มาสนับสนุนครับ ดังนั้น ถ้าคุณมีข้อมูลเรื่องราคาแบตแล้ว แจ้งผมมาเถอะนะครับ ผมจะช่วยโปรโมตให้ฟรีๆครับ

แต่ถ้าจะให้ผมเดาเรื่องราคาแบตทั้งแผงของ MG ZS EV นั้น ผมขอเอาตัวอย่างของแบต chevy bolt มาเปรียบเทียบนะครับ ซึ่ง chevy bolt นั้นมีแบตอยู่ประมาณ 60 kWh หรือ 288 cells ครับราคาแบตยกแผงของ Bolt นั้นอยู่ที่ $15,000 หรือ 450,000 บาท ส่วน MG ZS EV นั้นมีแบต 50 kWh ครับ แต่สามารถใช้งานได้เพียง 44.5 kWh เพราะ software ล๊อคไม่ให้ใช้งานเกิน 90 % SoC(State of Charge) ครับ ดังนั้นผมมองว่า ต้นทุนแบตของ MG น่าจะถูกกว่า 400,000 บาทต่อแพ๊ค(ไม่รวมภาษีแบตหน้าเลือดของบางประเทศ)ครับ แล้วถ้าคิดก็แบบตรงไปตรงมา Module (โมดูล)นึงก็จะตกประมาณ 25,000 บาทครับ (อันนี้คือการคำนวณเล่นๆ จากราคาแบตเตอร์รี่โลกนะครับ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อนาคตอีก 8 ปีข้างหน้านั้นราคาแบตจะถูกกว่าเดิมอีก 1 เท่าตัว

ปล. แบตแพ๊คนึงของ bolt นั้นจะใช้งานได้ประมาณ 200,000 ไมล์(321,000 km)ก่อนเปลี่ยนก้อน(module)ใหม่ ย้ำว่า module นะครับ ไม่ใช่ทั้ง pack

ที่มาแบต Chevy Bolt : myev

ระบบบริหารจัดการแบต (BMS)

Battery Management System (BMS) คือ ระบบจัดการแบตเตอรี่ ซึ่งทําหน้าที่ในการควบคุมป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ทำงานในลักษณะที่เป็นอันตราย เช่น เกิดการชาร์จไฟมากเกินไปหรือจ่ายไฟออกมากเกินไป รวมทั้งการ balance cell battery เพื่อประจุไฟให้เต็มมากที่สุด (Maximize battery capacity) และยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่

ที่มา : somkiet.com

Cell Monitoring Unit – ตัววัดอุณหภูมิและแรงดันไฟ[volt] (จ่ายเข้า-ส่ง)ของแต่ล่ะ cell battery

LV cable(Low Voltage Power cable)สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ

ในส่วนนี้ผมจะไม่ขอเจาะลึกเพราะรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์น้ำมัน hybrid ทุกคันนั้นมีระบบนี้อยู่แล้วซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยครับ ^^

รูปภาพ : การเดินสายไฟฟ้าแรงดันสูง(High Voltage Cable) ไปยังแบตแต่ล่ะ Module(โมดูล)

แบตเตอร์รี่เป็นระบบปิดกันน้ำได้ถึง IP67

รังแบตของ MG ZS EV นั้นใส่ชนวนกันความร้อนภายในมาด้วย

และที่สำคัญคือ โรงงานนั้นซีลแบตรอบด้านเพื่อให้กันน้ำหรือฝุ่นได้ถึง IP67

รูปภาพ : ใช้เครื่องจักร Robot Arm ในการซีลตัวแบตทั้งหมด
รูปภาพ : ทำการทดสอบ Airtight เพื่อทดสอบว่าแบตแผงนี้สามารถป้องกันฝุ่งละอองและน้ำได้ถึง IP67

มาตรฐานกันน้ำ IP67 คืออะไร?

มาตรฐาน IP ชื่อเต็มๆของเขา คือ International Protection Standard หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า Ingress Protection Rating คือมาตรฐานที่บอกถึงระดับการป้องกันฝุ่นและน้ำของเครื่องจักร หรือ อุปกรณ์ไฟฟ้า
การบอกถึงระดับมาตรฐานการป้องกันหลักๆจะบอกด้วยตัวเลขสองหลักที่ตามหลังตัวอักษร I และ P เช่น IP แล้วตามด้วยตัวเลย xx โดยตัวเลขหลักแรกหมายถึง ระดับการป้องกันของฝุ่นซึ่งมีระดับ 0 ไปจนถึง 6  ส่วนหลักที่สองหมายถึง ระดับการป้องกันของน้ำ ซึ้งมีระดับตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 9

IP67 คือมาตรฐานที่จะเป็นตัวบอกว่าอุปกรณ์หรือเครื่องมือนั้นๆ มีความสามารถที่จะป้องกันฝุ่นได้สมบูรณ์และมีความสามารถที่จะป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้ที่ความลึกสูงสุด 1 m เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที

ที่มา : psisat

ทำการทดสอบ EOL ก่อนส่งมอบ

EOL ย่อมาจาก End of Line หรือการทดสอบในกระบวนการขั้นสุดท้ายการส่งมอบครับ ซึ่งการทดสอบก็จะมีการชาร์จประจุไฟเข้าไปเต็มอัตราแล้วก็ทำการคายประจุไฟออก

เชิญชมสายพานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ณ โรงงาน SAIC ประเทศจีน ที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV ได้มากถึง 300,000 คันต่อปีก็ได้ตรงนี้เลยครับ

ปล. เห้ย 300,000 คันต่อปีแถมส่งออกทั่วโลกแบบนี้ มันไม่กระทบไทยใช่ไหมครับ หรือผมคิดไปเองครับ

BLINK DRIVE TAKE

ผมอยากจะบอกว่า สิ่งที่จะทำให้แบตของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ได้นานหรือเสื่อมเร็วนั้นมาจากอุณหภูมิแบตเตอร์รี่ครับ ไม่ใช่โช๊คนุ่ม, เบาะหนัง, หรือการออกแบบห้องโดยสารภายในให้เร้าใจวัยรุ่นครับ (เอาจริงๆ ที่อเมริกาเค้าไม่ได้สนเรื่องพวกนี้เลย เค้ามองว่า รถยนต์ต้องปลอดภัย, อัตราเร่งต้องดี, และที่สำคัญคือ ไม่จุกจิกในการซ่อม)

ผมไปเห็นกูรูรีวิวรถยนต์น้ำมันหลายคนมารีวิวรถยนต์ไฟฟ้าแต่ล่ะรุ่นในไทย เหมือนพวกเค้าพยายามจะจับประเด็นไปที่เฟอร์นิเจอร์ในภายในรถ(ก้านพวงมาลัยเล็กไปบ้าง, ใหญ่ไปบ้าง, หรือตัวควบคุม criuse control มันไม่ควรจะอยู่หลังพวงมาลัย)และสไตล์การขับขี่แบบ racing (เข้าโค้งหักศอกแล้วไม่เกาะเหมือนรถเก๋งเลย แล้วพี่แกก็กด 120 km/h เพื่อเข้าโค้งซะงั้น อเมริกาหรือยุโรปยังไม่รีวิวแบบนี้เลย เพราะการขับเร็วขนาดนี้ถือว่า ผิดกฏหมายในต่างประเทศครับ) มากกว่าเทคโนโลยีแบตเตอร์รี่(ซึ่งไม่เหมือนที่ต่างประเทศรีวิวกันไว้เลย)

จริงๆ ผมอยากให้กูรูรถยนต์ในไทยรีวิวรถเป็นภาษาอังกฤฤษใน youtube บ้างจังครับ จะได้เอาไปให้ฝรั่งเค้าดูว่า บ้านเรานั้นเน้นการรีวิวแบบนี้พอจะแข่งกับรายการ Top Gear ฝั่งอังกฤษหรือ Carsguru ฝั่งอเมริกาได้ไหม

ผมคิดว่า ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องสำคัญที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้ากันเลย นั่นก็คือเรื่องแบตเตอร์รี่ มันทำให้ผมอยากสร้างบทความที่เจาะลึกเกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ครับ ส่วนสิ่งต่อมาที่คนจะเลือกซื้อก็คือความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งผมจะขอนำไปเขียนกระทู้หน้านะครับ

Stay tune, stay with BLINK DRIVE

Follow by Email